เฟอร์รารี่ Roma Spider ยนตรกรรมคันล่าสุดของแบรนด์แห่งมาราเนลโล เผยโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก!

Last updated: 30 มี.ค. 2566  |  838 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เฟอร์รารี่ Roma Spider ยนตรกรรมคันล่าสุดของแบรนด์แห่งมาราเนลโล เผยโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก!

เฟอร์รารี่ Roma Spider ยนตรกรรมคันล่าสุดของแบรนด์แห่งมาราเนลโล เผยโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกวันนี้ ในงานที่รังสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษ ณ พระราชวัง El Badi ในมาราเกซ รถยนต์อันงามสง่าเหนือกาลเวลา พร้อมที่สุดแห่งสมรรถนะคันนี้ คือผลงานร่วมสมัยที่นำเอาความสูงค่าและการใช้ชีวิตอย่างเปี่ยมสุข ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของชาวอิตาเลียนในยุค 1950 และ 60 มาเป็นแรงบันดาลใจ ยนตรกรรมเปิดประทุนรุ่นใหม่มีรูปโฉม, สัดส่วน และสเปคเดียวกับแนวคิด “รถยนต์ V8 2+ ที่นั่ง” อย่างรุ่นเฟอร์รารี่ Roma ที่เคยประสบความสำเร็จอย่างมากมาแล้วก่อนหน้านี้ ทว่าสิ่งที่ทำให้น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่า คือหลังคาอ่อน (Soft Top) ที่ส่งให้รถคันนี้เป็นการหวนคืนของยนตรกรรมเปิดหลังคาเครื่องยนต์วางหน้าคันแรกในรอบ 54 ปี ของม้าลำพอง นับตั้งแต่รุ่น 365 GTS4 เมื่อปี 1969

ดีไซน์ที่แปลกใหม่และล้ำสมัยของหลังคา ตอกย้ำบุคลิกอันไร้ที่ติของเฟอร์รารี่ Roma Spider พร้อมออฟชั่นหลากหลายให้เลือกปรับแต่งเพื่อความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมไปถึงผ้าหลังคาแบบสั่งตัดและการเย็บตะเข็บด้ายด้วยสีตัดกัน ในด้านการทำงานนั้น หลังคา Soft Top สามารถเปิดหรือปิดได้เสร็จสมบูรณ์ในเวลาเพียง 13.5 วินาที และทำงานได้ขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูงสุดที่ 60 กม./ชม. นอกจากนั้น ขนาดหลังคาที่กะทัดรัดยังช่วยให้มีพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถมากขึ้น จึงเพิ่มความอรรถประโยชน์ได้ยิ่งกว่า แผ่นเบี่ยงทิศทางลมแบบใหม่ เอกสิทธิ์เฉพาะของเฟอร์รารี่ ซ่อนตัวกลมกลืนอยู่กับพนักพิงของเบาะหลัง สามารถสั่งให้กางออกได้ด้วยการกดปุ่มที่อยู่บนคอนโซลกลาง จึงมั่นใจได้ว่าผู้โดยสารทุกคนจะได้ความสบายสูงสุดโดยไม่สูญเสียพื้นที่ของรถไปแม้แต่น้อย

เฟอร์รารี่ Roma Spider ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพชั้นเยี่ยมเช่นเดียวกับเฟอร์รารี่ Roma: มีอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักที่ดีที่สุดในคลาส ไม่เพียงต้องยกความดีความชอบให้กับหลังคาอ่อนน้ำหนักเบาเท่านั้น ทว่ายังรวมไปถึงแชสซีส์อลูมิเนียมล้วนและพละกำลัง 620 แรงม้า ของเครื่องยนต์ V8 ตระกูลเดียวกับที่เคยคว้ารางวัล International Engine of the Year ถึง 4 ปีซ้อนมาแล้ว ขุมพลังนี้ทำงานร่วมกับชุดเกียร์ DCT 8 จังหวะ ที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก จากชื่อเสียงด้านความฉับไวในการเปลี่ยนเกียร์ ตลอดจนมาตรฐานความสะดวกสบายและประสิทธิภาพเชิงกล

ไม่เพียงแค่สามารถขับขี่ได้อย่างคล่องตัว แต่เฟอร์รารี่ Roma Spider ยังมาพร้อมกับขีดสุดแห่งประสิทธิภาพและการตอบสนองอีกด้วย : ความยอดเยี่ยมดังกล่าว ทำให้รถคันนี้เป็นคู่หูที่สมบูรณ์แบบทั้งสำหรับการใช้งานในเมืองและการขับขี่ทางไกล แน่นอนว่า ต้องมาพร้อมกับเสียงคำรามกึกก้องของขุมพลัง เฟอร์รารี่ V8 ที่ขับขานเป็นซาวด์แทร็คประกอบการขับขี่เฉกเช่นเฟอร์รารี่ทุกรุ่น ฟีเจอร์ต่างๆ ออกแบบมาเพื่อทำให้รถคันนี้มีอรรถประโยชน์สูงสุด ซึ่งรวมไปถึงเบาะหลังที่พับเก็บได้ สำหรับเก็บสัมภาระที่มีขนาดใหญ่ ตลอดจนการเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่าน Wi-Fi ที่รองรับทั้ง Android Auto® `และ Apple CarPlay® และแน่นอนว่า ที่ขาดไม่ได้คือเบาะนั่งที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ ปรับได้ 18 ทิศทาง พร้อมระบบทำความร้อนที่เบาะ และยังสามารถสั่งติดตั้งระบบให้ความอบอุ่นบริเวณคอ สำหรับใช้งานในช่วงอากาศหนาว ได้อีกด้วย

STYLE (การออกแบบ)
เฟอร์รารี่ Roma Spider ถูกออกแบบโดย Ferrari Styling Centre ซึ่งนำทัพโดย Flavio Manzoni พุ่งเป้าไปยังการยกระดับแนวคิด “La Nuova Dolce Vita” ให้เหนือขึ้นไปอีกขั้น ด้วยความสง่างามและความเพลินเพลินในการขับขี่ท่ามกลางสายลม รถเปิดประทุนแบบ 2+ ที่นั่งคันนี้ โดดเด่นด้วยหลังคาผ้า Soft Top ซึ่งไม่เพียงออกแบบมาเพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ของ Roma เอาไว้เท่านั้น ทว่ายังเสริมให้สัดส่วนอันไร้ที่ติของรุ่นคูเป้ที่เป็นพื้นฐานของรุ่น Spider นี้ ดูงดงามยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเส้นสายอันสง่างามลื่นไหลของรถแม้แต่น้อย

แนวหลังคาที่ลาดเอียงของรุ่นคูเป้ได้รับการออกแบบใหม่ นั่นหมายถึง จำเป็นต้องปรับรูปทรงของกระจกหลังให้กลมกลืนกับหลังคาอ่อน เพื่อให้ตัวหลังคาสามารถพับเก็บเข้าไปในฝาครอบได้อย่างแนบเนียนเมื่อเปิดประทุน เฟอร์รารี่ Roma Spider ได้ถูกเปลี่ยนธีมการตกแต่งมาใช้สีตัวถังพาดยาวตลอดส่วนฐานของหลังคาเพื่อแยกสปอยเลอร์คาร์บอนไฟเบอร์แบบแอคทีฟออกจากหลังคาและกระจกหลัง กลายเป็นฝาครอบหลังคาที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับตัวรถอย่างไร้รอยต่อ เมื่อเปิดหลังคา สปอยเลอร์แบบแอคทีฟจะดูราวกับเชื่อมต่อกับพนักพิงและหมอนรองศีรษะของเบาะหลัง ผ้าหลังคาของ Roma Spider ไม่เหมือนกับที่ใช้อยู่ในรถเปิดประทุนทั่วไป ด้วยการใช้วัสดุแบบใหม่ที่ส่งให้รถดูมีลูกเล่นยิ่งขึ้น ผ้าที่ทอขึ้นเป็นพิเศษถูกคัดสรรและพัฒนาการผสมผสานสีเพื่อเพิ่มความโดดเด่นให้กับจิตวิญญาณทั้งสองของรถ... ด้านหนึ่งคือความสง่างามยิ่งกว่า และอีกด้านหนึ่งคือความสปอร์ตโฉบเฉี่ยวยิ่งขึ้น วัสดุชั้นเลิศร่วมด้วยการทอแบบทูโทนลงบนสีพื้น 4 สี ช่วยขับให้เห็นถึงความประณีตราวกับอาภรณ์ชั้นสูง นอกจากนั้น ยังมีตัวเลือกเป็นผ้าที่ทอด้วยเทคนิคพิเศษ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับรถรุ่นนี้ เพื่อมอบความโฉบเฉี่ยวทว่าเปี่ยมด้วยรายละเอียดอันซับซ้อนเย้ายวนใจ ด้วยนวัตกรรมการทอแบบใหม่ที่สร้างสีแดงเหลือบรุ้งสวยสะดุดตา ทั้งยังเพิ่มความโดดเด่นให้กับพื้นผิวแบบ 3 มิติของหลังคาอีกด้วย

EXTERIOR (ตัวถังภายนอก)
แนวทางการออกแบบภายนอกของเฟอร์รารี่ Roma Spider มุ่งเน้นไปที่ดีไซน์สะอาดตาและความเข้ากันได้ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ สัดส่วนที่กลมกลืนและส่วนเว้าส่วนโค้งอันเป็นเอกลักษณ์, สง่างาม ต่างเป็นไปตามวัฒนธรรมของเฟอร์รารี่ GT เครื่องยนต์วางหน้าทั้งสิ้น กล่าวได้ว่า ทีมนักออกแบบได้รังสรรค์ความทันสมัยลงไปยังสัดส่วนที่คลาสสิค ทำให้รถเปี่ยมด้วยรายละเอียดและมีสไตล์ที่ร่วมสมัย

ฝากระโปรงหน้าที่ทอดยาวช่วยเน้นสัดส่วนช่วงไหล่ด้านข้างของรถ ให้ความรู้สึกโฉบเฉี่ยวทั่วทั้งคันและทำให้รถดูมีไดนามิก ส่วนหน้าของรถที่เคร่งขรึมและดูราวกับถูกดีไซน์มาจากโลหะชิ้นเดียว ช่วยสร้างรูปทรงแบบจมูกฉลามที่ยื่นออกมาด้านหน้า

ฝากระโปรงหน้าและแก้มข้างที่โค้งมนสอดประสานเข้าหากัน ทว่ายังคงกลมกลืนกับสไตล์ดั้งเดิมของเฟอร์รารี่ได้อย่างชัดเจน นักออกแบบพยายามรักษาความสง่างามแบบมินิมอลของรูปทรงรถเอาไว้ ด้วยการตัดช่องระบายอากาศหรือการตกแต่งที่ไม่จำเป็นออกไป ในความเป็นจริงนั้น ออฟชั่นการตกแต่งของรถคันที่ใช้ในการเปิดตัว ยังเลือกคอนฟิกซ์ออฟชั่นแบบไม่ใส่โลโก้ Scuderia Ferrari ที่ด้านข้างของตัวรถ ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางที่ใช้กับโร้ดคาร์ในปี 1950 เลยด้วยซ้ำ

การระบายความร้อนเครื่องยนต์มั่นใจได้ด้วยการใช้พื้นผิวแบบมีรูระบายอากาศ ซึ่งทำไว้เฉพาะบริเวณที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้เกิดเป็นการตีความใหม่ให้กับการออกแบบกระจังหน้า: คอนเซปต์ที่โดดเด่นนี้ถูกทำเป็นสีเดียวกับตัวรถ เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ที่ดูกลมกลืนไร้รอยต่อ ขอบของกระจังหน้าเชื่อมต่อไปสู่เส้นตรง 2 เส้น ชุดไฟหน้า Full-LED ทำให้ด้านหน้าของรถมีบุคลิกที่โดดเด่นในตัวเอง โดยมีแถบไฟ DRL แนวนอนลากผ่าน บอกใบ้ถึงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตัวถังรถ นี่คือองค์ประกอบที่ให้สัมผัสถึงความดุดันของเส้นสายโดยรอบของรถ โครงสร้างส่วนห้องโดยสารแบบท้ายลาดมีขนาดกะทัดรัดและวางค่อนไปทางท้ายรถ จบด้วยส่วนท้ายที่เพรียวบางซึ่งนักออกแบบได้รังสรรค์รูปลักษณ์ที่ล้ำสมัยให้กับท้ายรถอันเป็นเอกลักษณ์ของเฟอร์รารี่ โอเวอร์แฮงค์ท้ายรถที่ทอดยาวของเฟอร์รารี่ Roma Spider ซึ่งเป็นสไตล์เดียวกับเฟอร์รารี่ในยุค 1950 และ 60 ได้รับการปรับสัดส่วนใหม่ จนได้มาซึ่งพื้นผิวที่ดูเตี้ยและกะทัดรัดโอบล้อมซุ้มล้อหลัง ท้ายรถโค้งมนโดดเด่นด้วยกรอบไฟท้ายที่เป็นเอกลักษณ์และทันสมัย ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สามารถลดมิติของไฟท้ายลงได้อย่างมาก ผลลัพธ์ที่ได้คือดีไซน์แบบมินิมอลและสะดุดตาไม่ซ้ำใคร เติมเต็มมุมมองด้านท้ายด้วยดิฟฟิวเซอร์ขนาดพอเหมาะที่รวมชุดปลายท่อไอเสียเข้าไว้ด้วยกันในตัว

CABIN (ห้องโดยสาร)
สำหรับห้องโดยสารของเฟอร์รารี่ Roma Spider นั้น ทีมนักออกแบบของ Ferrari Styling Centre ได้นำวิธีการแบบเดียวกับที่เคยเปิดตัวในเฟอร์รารี่ Roma มาใช้ ด้วยการแยกพื้นที่ออกเป็นสองส่วนสำหรับผู้ขับและผู้โดยสาร ตามแนวคิด Dual Cockpit ซึ่งมีรากฐานมาจากรถยนต์ในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ตั้งแต่ยุค 1970 เป็นต้นมา รูปลักษณ์ที่ล้ำสมัยของห้องโดยสารแบบคู่นี้ เกิดขึ้นจากการต่อยอดดีไซน์แผงหน้าปัดไปยังทั้งสองฝั่งของห้องโดยสาร จนกลายเป็นสองโมดูลที่โอบล้อมรอบผู้ขับและผู้นั่ง ทั้งยังเชื่อมต่อไปยังเบาะหลังทั้งสองอีกด้วย

ห้องโดยสารของเฟอร์รารี่ Roma Spider มีการจัดวางที่แทบจะสมมาตรกัน ทำให้เกิดการกระจายทั้งพื้นที่และองค์ประกอบการใช้งานที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้โดยสารจะรู้สึกมีส่วนร่วมในประสบการณ์การขับขี่จนเหมือนเป็นผู้ช่วยคนขับ รูปทรงต่างๆ ได้รับการปั้นแต่งอย่างประณีตเพื่อสร้างส่วนเว้าส่วนโค้งเชิงประติมากรรมที่มีความต่อเนื่องทางพื้นผิว ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ทั่วทั้งห้องโดยสาร


ห้องโดยสารแบบคู่ถูกรวมเข้าด้วยกันเป็นสัดส่วนที่โอบล้อมจากแดชบอร์ดไปจนถึงเบาะหลัง รังสรรค์ขึ้นโดยการเชื่อมต่อส่วนเว้าส่วนโค้งและเน้นย้ำด้วยการเดินเส้นตัดบนขอบเหล่านั้น ผสมผสานแผงหน้าปัด, แผงประตู, เบาะหลัง และอุโมงค์เกียร์เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ดังนั้น ห้องโดยสารจึงไม่ได้ถูกออกแบบให้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิงด้วยการใช้องค์ประกอบย่อย ทว่ากำหนดด้วยองค์ประกอบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างแนบเนียนเป็นธรรมชาติ

เทคโนโลยีที่ใช้ได้นำมาจากเฟอร์รารี่ Roma : มาตรวัดดิจิตอลติดตั้งกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของแดชบอร์ด และปกป้องด้วยฝาครอบแบบลดการสะท้อนแสงซึ่งยื่นออกมาจากแดชบอร์ดอย่างแนบเนียน นอกจากนั้น ยังสามารถสั่งติดตั้งจอแสดงผลที่ฝั่งผู้โดยสารเพื่อแบ่งปันบันข้อมูลการขับขี่ต่างๆ ได้อีกด้วย จอแสดงผลส่วนกลางขนาด 8.4 นิ้ว ติดตั้งไว้ระหว่างค็อกพิตทั้งสอง และส่วนหนึ่งของจอลอยตัวอยู่ระหว่างแดชบอร์ดและคอนโซลกลาง รวมเอาระบบ Infotainment และการควบคุมระบบปรับอากาศเข้าไว้ในจอแสดงผลนี้ด้วย

 - สวิตช์ควบคุมชุดเกียร์ F1 ติดตั้งอยู่บนแผงโลหะที่ทันสมัยซึ่งมีดีไซน์อ้างอิงมาจากร่องคันเกียร์ของรถระดับตำนานในอดีต โดยในเฟอร์รารี่ Roma Spider คันเกียร์นี้จัดวางไว้บริเวณส่วนกลางของคอนโซล และทำมุมเอียงเล็กน้อยเพื่อให้ผู้ขับสามารถเอื้อมถึงและมองเห็นได้ง่ายยิ่งขึ้น

- ระบบ HMI บนพวงมาลัย เป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นไปอีกขั้นเมื่อเทียบกับในเฟอร์รารี่ Roma ด้วยระบบควบคุมแบบสัมผัส (Touch Controls) บนก้านพวงมาลัยทั้งสองฝั่ง โดยปุ่มที่ก้านฝั่งซ้ายมือมีการเล่นระดับเพื่อให้ผู้ขับสัมผัสได้ว่ากำลังใช้ปุ่มควบคุมระบบใดอยู่ ส่วนแป้นแบบสัมผัส (Track Pad) ที่ก้านฝั่งขวาก็ได้รับการปรับปรุงเช่นกัน ด้วยการออกแบบให้มีส่วนเว้าเพื่อให้ปัดไปมาได้ง่ายขึ้น วิธีนี้ช่วยให้ผู้ขับทราบว่าปุ่มควบคุมต่างๆ อยู่บริเวณไหน เป็นไปตามปรัชญา “สายตาอยู่บนถนน มืออยู่บนพวงมาลัย” ของเฟอร์รารี่ ที่ใช้มาอย่างยาวนาน ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์เป็นสีแดงเรืองแสงเพื่อตอกย้ำถึงความเร้าใจเมื่อขุมพลังเฟอร์รารี่เทอร์โบคู่อันเลื่องชื่อถูกปลุกให้ตื่นจากภวังค์

POWERTRAIN (ระบบขับเคลื่อน)

เฟอร์รารี่ Roma Spider ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังตระกูล V8 เทอร์โบ ที่ได้รับรางวัล “International Engine of the Year” 4 ปีติดต่อกัน และยังถูกโหวตให้เป็น “Best Engine of the Last 20 Years” ในปี 2018 อีกด้วย เครื่องยนต์ขนาด 3,855 ซีซี สามารถทำกำลังได้ถึง 620 แรงม้า ที่ 7,500 รอบ/นาที หรือคิดเป็น 161 แรงม้าต่อลิตร ทำงานร่วมกับพลังในรอบต่ำที่มีช่วงกว้าง โดย 80% ของแรงบิดมีให้ใช้ตั้งแต่รอบต่ำเพียง 1,900 รอบ/นาที เท่านั้น

เฟอร์รารี่ Roma Spider ยังเปิดตัววิวัฒนาการสำคัญของปั๊มน้ำมันเครื่องแบบใหม่ ซึ่งช่วยลดเวลาในการสร้างแรงดันน้ำมันขณะเครื่องเย็นลงถึง 70% ทั้งยังเพิ่มอัตราการไหลที่รอบเครื่องช่วงกลางอีกด้วย การปรับปรุงนี้เพิ่งเปิดตัวไปในเฟอร์รารี่ Roma เช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับเฟอร์รารี่รุ่นอื่นในเรนจ์ เฟอร์รารี่ Roma Spider สามารถมอบการตอบสนองคันเร่งแบบทันทีทันใดเช่นกัน สิ่งนี้เป็นผลลัพธ์โดยตรงของการใช้วิธีแก้ไขที่เฉพาะเจาะจง อาทิ ใช้เพลาข้อเหวี่ยงแบบท้ายตัด ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปกติ และมีน้ำหนักขณะหมุนน้อยกว่า จึงเพิ่มประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น; กังหันเทอร์โบขนาดเล็กลง จึงมีแรงเฉื่อยต่ำ; เทคโนโลยี Twin-scroll ที่รับแรงดันไอเสียมาจากแต่ละกระบอกสูบโดยตรงผ่านช่องทั้งสอง ทั้งยังช่วยเพิ่มแรงดันของกระแสไอเสียได้ดียิ่งขึ้นที่รอบสูงอีกด้วย; และท่อร่วมไอเสียเหล็กหล่อขึ้นรูปชิ้นเดียว ที่มีความยาวของแต่ละท่อเท่ากันทั้งหมด เพื่อเพิ่มคลื่นแรงดันในกังหันเทอร์โบฝั่งไอเสีย และลดการสูญเสียแรงดัน 

เฟอร์รารี่ Roma Spider ใช้ระบบ Variable Boost Management ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยเฟอร์รารี่ เพื่อปรับการถ่ายทอดแรงบิดให้เหมาะสมกับแต่ละเกียร์ ช่วยให้ได้พลังเต็มพิกัดตลอดย่านความเร็วรอบเครื่อง ทั้งยังลดอัตราสิ้นเปลืองได้อีกด้วย โดยขณะกำลังเร่งเครื่องในแต่ละเกียร์ ปริมาณของแรงบิดที่ส่งมาจากเครื่องยนต์จะเพิ่มขึ้นตามลำดับและอย่างต่อเนื่องจนเต็มพิกัดที่ 760 นิวตันเมตร ในเกียร์ 7 และ 8 วิธีนี้ทำให้สามารถใช้อัตราทดเกียร์ที่ห่างขึ้นได้ในช่วงเกียร์สูง จึงลดอัตราสิ้นเปลืองและมลพิษลง ขณะที่การส่งแรงบิดออกมาแบบไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความเร็วรอบเครื่อง ในเกียร์ต่ำ ยังช่วยให้ได้สัมผัสที่นุ่มนวลและต่อเนื่องอีกด้วย

ชุดเกียร์เป็นแบบคลัตช์คู่แช่อยู่ในน้ำมัน ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับชุดเกียร์ 8 จังหวะ ที่เปิดตัวครั้งแรกไปในรุ่น SF90 Stradale การปรับปรุงหลักๆ อยู่ที่การใช้อัตราทดช่วงเกียร์สูงห่างกว่าเดิม และใช้เกียร์ถอยหลังแบบใหม่ จากการพัฒนาเลย์เอาท์และส่วนประกอบต่างๆ ส่งให้ชุดเกียร์มีขนาดเล็กลงและติดตั้งเข้าไปในรถได้อย่างลงตัวที่สุด การใช้อัตราทด 8 จังหวะ ร่วมด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบขับเคลื่อน ช่วยให้มีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยทั้งในและนอกเมืองลดลง โดยไม่มีผลกระทบต่อสมรรถนะของรถแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงก็คือ ผู้ขับสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงแม้จะขับขี่แบบสปอร์ตก็ตาม ฟีเจอร์ทางเทคนิคที่ทำให้ได้ผลลัพธ์นี้คือการใช้น้ำมันเครื่องความหนืดต่ำและการกำหนดค่าระบบ Dry Sump (อ่างน้ำมันเครื่องแบบแห้ง) เพื่อลดการสูญเสียประสิทธิภาพการไหล (การกระเด็นของน้ำมันเครื่อง) ร่วมด้วยการใช้เฟืองท้ายที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ (พร้อมแกนเพลาขับแบบไม่เยื้องศูนย์ เพื่อลดการลื่นเมื่อเร่งความเร็ว)

โมดูลของชุดคลัตช์มีขนาดเล็กลง 20% เมื่อเทียบกับชุดเกียร์ 7 จังหวะรุ่นก่อนหน้านี้ แต่ให้แรงบิดได้ดีขึ้นถึง 30% และรองรับแรงบิดระหว่างการเปลี่ยนเกียร์ได้สูงสุด 1,200 นิวตันเมตร การทำงานของซอฟต์แวร์ก็ได้รับการพัฒนาเช่นกัน ต้องขอบคุณกล่อง ECU ที่ทรงพลังกว่าเดิมและการทำงานที่สอดประสานกันยิ่งขึ้นระหว่างซอฟต์แวร์ต่างๆ ของระบบควบคุมเครื่องยนต์ และจุดที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือการออกแบบซอฟต์แวร์ให้สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระบบ Start&Stop กำลังทำงาน

เครื่องยนต์ทุกตัวของเฟอร์รารี่ ต่างมาพร้อมกับเสียงคำรามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เว้นแม้กระทั่งในเฟอร์รารี่ Roma Spider โดยนอกจากการใช้เพลาข้อเหวี่ยงแบบท้องแบน ซึ่งทำงานประสานกับลำดับการจุดระเบิด และท่อร่วมไอเสียที่มีความยาวท่อเท่ากันจึงทำให้ได้เสียงที่สม่ำเสมอแล้วนั้น รถรุ่นเปิดประทุนคันนี้ยังใช้ระบบไอเสียทั้งหมดจากเฟอร์รารี่ Roma ซึ่งไม่มีหม้อพักไอเสีย ทว่าเปลี่ยนเป็นระบบ By-pass valves ที่ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเสียงคำรามและสมรรถนะของเครื่องยนต์ ตามรูปแบบขับขี่ขณะนั้น


AERODYNAMICS (อากาศพลศาสตร์)

การใช้หลังคาผ้า Soft Top และผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับรูปทรงตัวถังรถ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบแอโรขึ้นใหม่ เพื่อการคงไว้ซึ่งแรงต้านต่ำของเฟอร์รารี่ Roma หลังคาแข็ง เมื่อรวมกับความเป็นไปได้ในการสร้างแรงกดที่มีประสิทธิภาพ แนวหลังคาและความโค้งเหนือส่วนหน้าของรถ จึงได้รับการวิเคราะห์ด้านตัวเลขเชิงลึก และควบคุมโดยฝ่ายแอโรไดนามิกเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการจะลุล่วงตามเป้าที่ตั้งไว้

การปรับแต่งตัวถังของเฟอร์รารี่ Roma Spider ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนรูปทรงของสปอยเลอร์แบบแอคทีฟใหม่อีกด้วย โดยการออกแบบสปอยเลอร์ได้รับการขัดเกลาอย่างพิถีพิถันเพื่อให้รับกับสไตล์และหลังคาแบบใหม่ของรถ และเช่นเดียวกับในเฟอร์รารี่ Roma องค์ประกอบนี้ถูกออกแบบให้การยกตัวและเก็บกลับเข้าไป เหมาะสมกับรูปทรงแบบเปิดประทุน ตามความเร็วตลอดจนแรงกระทำขณะเร่งความเร็วตามแนวยาวและขวางที่เกิดขึ้นกับรถ โดยสามารถทำงานได้ 3 ตำแหน่งแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการขับขี่

ผลลัพธ์ที่ได้คือ เฟอร์รารี่ Roma Spider จะมีแรงกดทั้งบนทางโค้งและที่ความเร็วสูงเทียบเคียงกับเฟอร์รารี่ Roma จึงมั่นใจได้ว่ารถจะมีแอโรไดนามิกที่สมดุลและมอบความเร้าใจในการขับขี่ได้เช่นเดียวกันเสมอ นอกจากนั้น สิ่งที่ได้รับการใส่ใจไม่แพ้กันก็คือ ความสะดวกสบายในห้องโดยสารขณะขับขี่แบบเปิดหลังคา โดยเน้นไปที่การลดการรบกวนของลมและตัดเสียงลมที่จะเข้ามารบกวนในห้องโดยสารให้ได้มากที่สุด

ทางออกที่เลือกใช้มุ่งไปยังปัญหาที่เกิดขึ้นขณะเปลี่ยนจากการขับแบบปิดหลังคามาเป็นเปิดประทุน ด้วยการใช้ชิ้นส่วนที่เคลื่อนตัวออกมาได้อัตโนมัติเพื่อทำหน้าที่สร้างเอฟเฟคท์ “ฟองอากาศ” เหนือห้องโดยสาร จุดแรกคือการเพิ่มส่วนนูนด้านบนของกรอบกระจกหน้าบริเวณที่อากาศจะไหลแยกออกจากกัน จุดที่สองคือการพัฒนาแผ่นเบี่ยงทิศทางลมอัตโนมัติ ลิขสิทธิ์เฉพาะของเฟอร์รารี่ที่ผู้ขับสามารถสั่งให้ยกขึ้นได้ด้วยการกดปุ่มที่ติดตั้งไว้บนคอนโซลกลางโดยไม่จำเป็นต้องจอดรถ จากนั้นพนักพิงของเบาะหลัง (เมื่อไม่มีคนนั่ง) จะหมุนไปอยู่ในตำแหน่งหลังศีรษะของผู้โดยสารตอนหน้า

ที่ตำแหน่งนี้ กระแสอากาศซึ่งปกติจะไหลลงมาในห้องโดยสารจากด้านหลังของรถจะถูกเบี่ยงออกไป ทำให้อากาศรอบตัวผู้โดยสารค่อนข้างนิ่ง และลดการรบกวนของลมบริเวณศีรษะของผู้ขับขี่ได้มากกว่าเดิมประมาณ 30% เมื่อเทียบกับระบบที่เคยใช้ในรถ Spider แบบ 2+ ที่นั่ง รุ่นก่อนหน้านี้ ระบบป้องกันลมเข้ามาในห้องโดยสารแบบเปิดได้นี้ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วยการใช้ช่องแนวขวางที่กึ่งกลางของเบาะหลัง ที่ปรับมุมจนเหมาะสม ทำหน้าที่เสมือนปล่องแอโรไดนามิก และให้มุมมองที่ดูเรียวลงด้านข้างเมื่อมองจากท้ายรถ องค์ประกอบทั้งหมดนี้ทำงานสอดประสานกันเพื่อเบี่ยงกระแสอากาศที่รุนแรงที่จะเข้ามาในห้องโดยสาร ให้พ้นออกไปจากตัวผู้นั่งทุกตำแหน่งของรถ

ช่องที่อยู่กึ่งกลางตัวหยุดอากาศ ทำให้มั่นใจได้ว่าบางส่วนของกระแสลมที่จะเข้ามาในห้องโดยสาร จะถูกเบี่ยงลงด้านล่างสู่เบาะหลัง เพื่อบังคับให้กระแสลมเคลื่อนตัวช้าลง ซึ่งหมายความว่าอากาศที่เข้ามาในห้องโดยสารจะสูญเสียพลังงานส่วนใหญ่ของมันไป จึงลดการรบกวนของลมในห้องโดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ได้คือการขยายตัวของ “ฟองอากาศ” รอบตัวผู้โดยสาร โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถเพลิดเพลินไปกับสายลมอย่างสะดวกสบายแน่นอน รูปทรง, องศา และการแทรกตัวของอากาศเพื่อหยุดกระแสลม ที่ทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ได้รับการพัฒนาขึ้นจากเครื่องจำลอง CFD และการทดสอบอีกหลายครั้งในอุโมงค์ลม

สปอยเลอร์แบบแอคทีฟบนส่วนท้ายของรถ คืออุปกรณ์สร้างดาวน์ฟอร์ซที่มีรูปทรงน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย ตัวสปอยเลอร์ซ่อนตัวอยู่กับฝาท้ายได้อย่างแนบเนียนโดยไม่ไปรบกวนเส้นสายของตัวรถแม้แต่น้อย และด้วยกลไกที่ออกแบบมาพิเศษ ทำให้สามารถยกตัวขึ้นได้ถึง 3 ตำแหน่งแตกต่างกัน คือ แรงต้านต่ำ (Low drag – LD), แรงกดปานกลาง (Medium Downforce – MD) และแรงกดสูง (High Downforce – HD)

ขณะขับขี่ที่ความเร็วต่ำ ซึ่งแรงกดส่งผลต่อรถเพียงเล็กน้อย สปอยเลอร์จะอยู่ในตำแหน่งแรงต้านต่ำ และจะคงอยู่เช่นนี้จนกระทั่งรถทำความเร็วที่ 100 กม./ชม. หากขับขี่ด้วยความเร็วสูงกว่า 300 กม./ชม. สปอยเลอร์จะปรับไปที่โหมด MD เนื่องจากในสภาพการขับขี่เช่นนี้ รถต้องการความสมดุลเป็นพิเศษ รวมถึงเพื่อลดผลกระทบจากแรงต้านให้น้อยลง ส่วนช่วงความเร็วที่ดาวน์ฟอร์ซมีบทบาทสำคัญต่อสมรรถนะ สปอยเลอร์จะอยู่ในตำแหน่ง MD และเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่ง HD โดยขึ้นอยู่กับแรงกระทำตามยาวและข้างของรถขณะเร่งความเร็ว เกณฑ์ต่างๆ จะแปรผันและเชื่อมโยงกับตำแหน่งรูปแบบการขับขี่ที่เลือกจากสวิตช์ Manettino

ที่โหมดแรงกดปานกลาง (MD) สปอยเลอร์จะทำมุม 150 องศากับกระจกหลัง ที่ตำแหน่งนี้ ปีกหลังจะสร้างแรงกดได้ 30% ของแรงกดสูงสุด โดยมีแรงต้านเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1% เท่านั้น เมื่ออยู่ในการขับขี่แบบ High-performance หรือขณะเบรก สปอยเลอร์จะปรับไปที่โหมด HD โดยอัตโนมัติ เพื่อสร้างแรงกดสูงสุด และเตรียมพร้อมสำหรับสร้างความเร้าใจในการขับขี่ เช่นเดียวกับที่เฟอร์รารี่ทุกคันสามารถทำได้ เมื่อสปอยเลอร์อยู่ในระดับสูงสุด (โหมด HD) ปีกหลังจะทำมุม 135 องศา กับพื้นผิวของกระจกหลัง เกิดเป็นแรงกดมากถึงราว 95 กก. ที่ความเร็ว 250 กม./ชม. ทว่าสร้างแรงต้านเพียง 4% เท่านั้น

การเพิ่มแรงกดด้านหน้า ส่วนใหญ่เกิดจากชุดสร้างกระแสลมวน ซึ่งได้รับการปรับให้เหมาะสมสำหรับรถรุ่นนี้โดยเฉพาะ ด้วยการสร้างแรงกดโดยนำเอากระแสลมที่เข้มข้นและสอดคล้องกัน เข้ามายังบริเวณที่กำหนดไว้ เพื่อจัดการกับอากาศที่เกิดขึ้นจากด้านหน้าของซุ้มล้อหน้า โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างแรงกดที่มีประสิทธิภาพที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

 VEHICLE DYNAMICS (ระบบควบคุมไดนามิกส์)

เป้าหมายของการพัฒนาระบบควบคุมไดนามิกส์ในเฟอร์รารี่ Roma Spider คือการมอบความเร้าใจในการขับขี่และการบังคับควบคุมที่แม่นยำเท่าเทียมกับเฟอร์รารี่ Roma ด้วยการใช้แนวคิดแบบ Side Slip Control ที่มีอัลกอริทึมซึ่งพัฒนาขึ้นโดยเฟอร์รารี่คอยทำหน้าที่ประเมินการลื่นไถลแนวข้างเพื่อส่งข้อมูลไปให้ระบบควบคุมต่างๆ ในรถ จากนั้นข้อมูลนี้จะใช้ในการประสานงานและดำเนินการแทรกแซงอย่างรวดเร็ว, ทันเวลา และแม่นยำ

ระบบ Side Slip Control (SSC) เวอร์ชั่น 6.0 ที่อยู่ในรถคันนี้ รวบรวมเอาระบบควบคุมไดนามิกส์ทั้งหมดของรถเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรวมไปถึงระบบ Ferrari Dynamic Enhancer (FDE) ที่จะทำงานเมื่อปรับสวิตช์ Manettino ไปยังตำแหน่ง ‘Race’ เท่านั้น FDE คือระบบควบคุมไดนามิกส์ด้านข้างที่จะปรับแรงดันน้ำมันเบรกที่คาลิเปอร์ทั้งสี่ล้ออย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ไดนามิกที่ต้องการการควบคุม ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้สามารถคาดเดาไดนามิกด้านข้างได้ล่วงหน้ามากขึ้นทั้งขณะอยู่ในโค้งและทางออกโค้ง ทำให้มั่นใจได้ว่าการควบคุมพวงมาลัยและคันเร่งของผู้ขับขี่จะเป็นไปอย่างง่ายดายและเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยระบบจะทำงานควบคู่ไปกับระบบควบคุมเสถียรภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ดั้งเดิม และเช่นเดียวกับเฟอร์รารี่ Roma ใน Roma Spider ก็มีโหมดให้เลือก 5 ตำแหน่ง เพื่อการบังคับควบคุมและประสิทธิภาพการยึดเกาะที่เข้าถึงได้ง่ายดายยิ่งขึ้น เพียงปรับสู่โหมด Race ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสนุกหลังพวงมาลัยโดยมีระบบ Ferrari Dynamic Enhancer คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง



CHASSIS AND BODYWORK (แชสซีส์และโครงสร้างตัวถัง)

แชสซีส์ของเฟอร์รารี่ Roma Spider นำมาจากเฟอร์รารี่ Roma ทว่ามีหลายชิ้นส่วนที่เป็นของใหม่ ด้วยโครงสร้างส่วนท้ายที่ได้รับการปรับปรุงโดยใช้วิธีเดียวกับที่เคยใช้ในเฟอร์รารี่ Portofino M โดยคานประตูด้านล่างซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของโครงสร้าง ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นพิเศษสำหรับเฟอร์รารี่ Roma Spider เช่นเดียวกับองค์ประกอบบางชิ้นที่จำเป็นสำหรับการติดตั้งหลังคาอ่อน และที่บริเวณเสา A กับกรอบกระจกหน้า

โครงสร้างตัวถังยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ ของเฟอร์รารี่ Roma : การปรับแต่งที่จำเป็น มุ่งเน้นไปยังส่วนท้ายของรถ และการทำให้เส้นสายของเฟอร์รารี่ Roma Spider ยังคงสง่างามเมื่อเปิดหลังคา ความแข็งแกร่งของโครงสร้างและความต้านทานการบิดตัวทำได้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาเพียง 84 กก. จึงมีอัตราส่วนน้ำหนักที่ 2.5 กก./แรงม้า ส่งให้ Roma Spider ยังคงอยู่ในระดับหัวแถวของกลุ่มรถแบบ 2+ ที่นั่ง เปิดประทุน สมรถนะสูง ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจนี้ ยังทำให้มั่นใจได้ว่าเฟอร์รารี่ Roma Spider จะสามารถมอบการบังคับควบคุมและสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับเฟอร์รารี่ Roma

การเพิ่มความแข็งแกร่งดังกล่าว มีสาเหตุมาจากสองปัจจัย ประการแรกคือ จากการเพิ่มตัวเบี่ยงกระแสลม ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายของผู้โดยสารอย่างมาก ประการที่สองคือ การเพิ่มพนักพิงศีรษะสำหรับเบาะหลังที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับดีไซน์ของฝาครอบช่องเก็บหลังคา

หลังคา Soft Top เปิดปิดอัตโนมัติ ช่วยให้มั่นใจได้ว่าผู้โดยสารจะได้ความสะดวกสบายเทียบเท่ากับระบบหลังคาแข็งแบบพับได้ที่มีอยู่ในรุ่นอื่นๆ ในเรนจ์ กระจกหลังขนาดใหญ่ติดตั้งรวมเป็นส่วนหนึ่งของหลังคา ขณะที่ผ้าหลังคาหนา 5 ชั้น ทำหน้าที่ซับเสียงจากลมและถนน ช่วยให้ห้องโดยสารเงียบแม้ขับขี่ที่ความเร็วสูง ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนา ยังได้ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการลดการพองตัวซึ่งมักเกิดขึ้นในหลังคา Soft Top ทั่วไป เทคนิคที่ทีมวิศวกรของเฟอร์รารี่นำมาใช้จึงเป็นเครื่องรับประกันได้ถึงประสิทธิภาพระดับหัวแถวในการแก้ไขปัญหานี้

กลไกของหลังคาถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบาและให้ตัวได้ : นี่คือการก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการเคลื่อนที่แบบอักษร Z เพื่อพับหลังคาเก็บได้ใน 13.5 วินาที และทำงานได้จนถึงการขับขี่ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. โดยเมื่อพับ หลังคาจะมีความสูงเพียง 220 มม. ซึ่งนับว่าเตี้ยที่สุดในกลุ่ม และช่วยให้มีพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระกว้างขวาง (225 ลิตร เมื่อปิดหลังคา ซึ่งมากที่สุดในคลาส)

ช็อคอับแก๊สที่ใช้ยกแผ่นเบี่ยงทิศทางลมได้รับการออกแบบและพัฒนาอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ได้การควบคุมที่ราบรื่นในทุกขั้นตอนของการเคลื่อนไหวและในทุกสภาวะ สามารถเปิดแผ่นเบี่ยงทิศทางลมได้จนถึงความเร็ว 170 กม./ชม. โดยกลไกการเปิดจะจำกัดการทำงานอัตโนมัติเมื่อถึงความเร็วสูงสุดที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย เมื่ออยู่ในช่วงความเร็วที่เหมาะสม ผู้ขับสามารถสั่งกางแผ่นเบี่ยงทิศทางลมได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

แผงเบี่ยงทิศทางลม ยังคงคุณสมบัติเฉพาะของพนักพิงเอาไว้ทั้งหมด : พื้นผิวที่ผู้โดยสารด้านหลังพิงลงไป ได้รับการบุนวมเพื่อความสบาย และออกแบบให้มีรูปทรงที่ยังคงเปิดกางออกได้ แม้เบาะหน้าจะอยู่ในตำแหน่งปกติก็ตาม (ไม่ได้ถูกพับไปด้านหน้า) ช่องตรงกลางจะชดเชยแรงดันอากาศที่กระทำต่อด้านใดด้านหนึ่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่จุดจลนศาสตร์ของระบบ เป็นผลที่ได้จากการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับเบาะหลังและพื้นที่เก็บสัมภาระทั้งหมด โดยปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับการเคลื่อนไหวและน้ำหนัก

7 YEARS MAINTANANCE (โปรแกรมบำรุงรักษา 7 ปี)

มาตรฐานคุณภาพที่เหนือชั้นของเฟอร์รารี่และการมุ่งเน้นที่การบริการลูกค้า เป็นหัวใจสำคัญของโปรแกรมการบำรุงรักษาขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 7 ปี สำหรับเฟอร์รารี่ Roma Spider โปรแกรมนี้ครอบคลุมการบำรุงรักษาตามปกติทั้งหมดในช่วง 7 ปีแรกของรถ การบำรุงรักษาตามกำหนดเวลานี้เป็นบริการพิเศษที่ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่ารถของท่านจะมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความปลอดภัยตลอดเวลา บริการพิเศษนี้มีให้สำหรับผู้ที่ซื้อเฟอร์รารี่มือสองด้วยเช่นกัน

การบำรุงรักษาตามปกติ (ตามระยะทาง 20,000 กม. หรือปีละครั้ง ไม่จำกัดระยะทาง), อะไหล่แท้ และการตรวจเช็คอย่างพิถีพิถันโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมโดยตรงที่ศูนย์ฝึกอบรมของเฟอร์รารี่ในมาราเนลโล โดยใช้เครื่องมือวินิจฉัยที่ทันสมัยที่สุด บริการนี้ครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้งหมด

โปรแกรมการบำรุงรักษา 7 ปีนี้ จะขยายขอบเขตของบริการหลังการขายที่เสนอโดยเฟอร์รารี่ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่ต้องการรักษาประสิทธิภาพและความเป็นเลิศ อันเป็นเอกลักษณ์ของรถยนต์ทุกคันที่สร้างขึ้นจากโรงงานในมาราเนลโล

ข้อมูลทางเทคนิค - FERRARI ROMA SPIDER

เครื่องยนต์

ประเภท                                                            V8 ทำมุม 90 องศา, เทอร์โบคู่

ความจุกระบอกสูบ                                              3855 ซีซี

กระบอกสูบและช่วงชัก                                        86.5 มม. x 82 มม.

กำลังสูงสุด*                                                     456 กิโลวัตต์ (620 แรงม้า) ที่ 5750–7500 รอบ/นาที

แรงบิดสูงสุด                                                     760 นิวตันเมตร ที่ 3000-5750 รอบ/นาที

รอบเครื่องยนต์สูงสุด                                             7500 รอบ/นาที

อัตราส่วนกำลังอัด                                              9.45:1

แรงม้าต่อลิตร                                                   161 แรงม้า/ลิตร

มิติและน้ำหนัก

ความยาว                                                               4656 มม.

ความกว้าง                                                             1974 มม.

ความสูง                                                                 1306 มม.

ความยาวฐานล้อ                                                  2670 มม.

ความกว้างฐานล้อหน้า                                           1652 มม.

ความกว้างฐานล้อหลัง                                           1679 มม.

น้ำหนักรถเปล่า**                                                 1556 กก.

น้ำหนักรถต่อแรงม้า                                              2.5 กก./แรงม้า

การกระจายน้ำหนัก                                               หน้า 48% / หลัง 52%

ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง                                       80 ลิตร

ความจุห้องเก็บสัมภาระ                                        255 ลิตร

ล้อและยาง

หน้า                                                                        245/35 ZR 20 J8.0

หลัง                                                                   285/35 ZR 20 J10.0

ระบบเบรก

หน้า                                                                        390 x 34 มม.

หลัง                                                                        360 x 32 มม.

เกียร์และระบบส่งกำลัง

F1 8 จังหวะ คลัตช์คู่

ระบบควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์

EPS, VDC, ABS และ EBD, F1-TCS, E-Diff3, SSC 6.0, FDE, SCM-E Frs

สมรรถนะ

ความเร็วสูงสุด                                                       > 320 กม./ชม.

0-100 กม./ชม.                                                       3.4 วินาที

0-200 กม./ชม.                                                       9.7 วินาที

100-0 กม./ชม.                                                       32 เมตร

200-0 กม./ชม.                                                       130 เมตร

อัตราสิ้นเปลือง

อยู่ภายใต้ข้อบังคับ

การปล่อยมลพิษ

อยู่ภายใต้ข้อบังคับ

* ใช้น้ำมันเบนซิน 98 RON

** ติดตั้งออปชั่นอุปกรณ์ลดน้ำหนัก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้