Last updated: 4 พ.ย. 2562 | 5329 จำนวนผู้เข้าชม |
ในฐานะ Design Director Architect ของบริษัท BrownHouses ผลงานของคุณกร ทองทั่ว
ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานออกแบบชั้นเยี่ยม แต่ชีวิตที่คู่ขนานไปกับการทำงาน คือไลฟ์สไตล์ของหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Renn Drive ที่หลงใหลในประวัติศาสตร์แห่ง Porsche และ Volkswagen… สำหรับ เจ้า ‘โฟล์คเต่า’ จากยุค 50s คันนี้ คุณกรปลุกปั้นมันขึ้นมาจากความทรงจำในอดีต เก็บรายละเอียดด้วยศาสตร์-ศิลป์ของนักประวัติศาสตร์ยนตรกรรม และเก็บรักษาอย่างดีเพื่อหวังเป็นมรดกให้ลูกๆ ได้ระลึกถึงคุณค่าในสิ่งที่พ่อทำและส่งมอบให้...
“รถคันแรกในชีวิตของผมคือรถโฟล์คเต่า ทำให้ผมมีความผูกพันกับรถตระกูลนี้... 20 กว่าปีผ่านไป เราได้กลับมาเล่นรถเต่าอีกครั้ง
และครั้งนี้ผมพยายามเก็บงานให้ละเอียดที่สุด อะไรที่สามารถ Restore กลับไปสู่อัตลักษณ์ดั้งเดิมของรถได้ ผมจะทำทุกอย่างโดยไม่มีข้อแม้”
รถคันแรกในชีวิตของผมคือรถโฟล์คเต่า ทำให้ผมมีความผูกพันกับรถตระกูลนี้ ย้อนกลับไปเมื่อ
ช่วงที่ผมอายุประมาณ 20 ปี ผมซื้อรถเต่ามาขับเป็นรถคันแรกของตัวเอง คันละ 5 หมื่น 5 ตอนนั้นยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่เลย มีความสุขมาก มันส์มากกับรถราคา 5 หมื่น 5 (หัวเราะ) ผมเรียนสถาปัตย์
เวลารถเสียต้องเข็นผ่านหน้าคณะอื่น แต่ขนาดเข็นยังเท่เลย รถเต่าเป็นอะไรที่ wow! ตลอดกาล... 20 กว่าปีผ่านไป เราได้กลับมาเล่นรถเต่าอีกครั้ง และครั้งนี้ผมพยายามเก็บงานให้ละเอียดที่สุด อะไรที่สามารถ
Restore กลับไปสู่อัตลักษณ์ดั้งเดิมของรถได้ ผมจะทำทุกอย่างโดยไม่มีข้อแม้ เพียงแต่รสนิยมของผม เป็นคนชอบอะไรเดิมๆ แต่ต้องสะท้อนความเป็นตัวของตัวเองลงไปและมีความร่วมสมัย ผมไม่ได้เล่นรถเก่าในวิถีของคนเก็บรถคลาสสิกเพียวๆ ที่ต้องอนุรักษ์ของเดิมไว้ทั้งหมด
รถคันนี้ผมได้มาในสภาพค่อนข้างดี แต่เมื่อมาอยู่กับเรา ผมเห็นว่ารายละเอียดบางอย่างของรถยังไม่ใช่อย่างเช่น สีตัวถังเป็นสีเทานกพิราบ ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรแต่นั่นสะท้อนตัวตนของเจ้าของเก่า ไม่ใช่ตัวตนของเรา
ดังนั้นพอได้รถคันนี้มาครอบครอง ผมจึงลงทุนรื้อทุกอย่างออก จนแทบจะเหลือแต่ chassis
เป็นจุดเริ่มต้นการทำงานกับรถคันนี้เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งก็ถือว่าใช้เวลาไม่นานนัก ต้องยอมรับว่าความรู้เกี่ยวกับรถโฟล์คเต่าที่เราสะสมมาตลอด 20 กว่าปีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยร่นระยะเวลาการทำรถ และต้องยกเครดิตให้กับช่างคนล่าสุดที่เข้ามาทำรถคันนี้ โชคดีที่ base ของเขามีความผูกพันกับรถเต่าเหมือนๆ กับผม
เขาเล่นรถโฟล์คมา 20 กว่าปี จนผันตัวเองจากคนเล่นรถมาเป็นคนทำรถ ถือเป็นโชคดีของเราที่ได้เขามาทำรถให้ ใช้ทักษะของเขาผสมผสานกับความละเอียดของผม ร่วมกันสร้างสรรค์รถเต่าคันนี้ขึ้นมาใหม่ดังที่ตั้งใจไว้ ผมจึงบอกได้เลยว่าการเล่นรถแนวนี้ ช่างเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ
มีรายละเอียดบางอย่างที่ผมเฉพาะเจาะจงลงไปในรถเต่าคันนี้ อาทิเช่น กระจกกันลม เดิมทีเจ้าของเก่า เขาใส่กระจกแบบจอแบ่งเพื่อให้รถดูลึก แต่เราทราบดีว่าออริจินัลของโฟล์คเต่ารุ่นปี 1955 กระจกมันไม่ใช่แบบจอแบ่ง ต่อให้ใส่แล้วรถจะออกมาสวยงามแค่ไหน แต่ถ้ารถมันผิดปี มันก็แทบไม่มีมูลค่า เหมือนแค่ back date ให้รถดูเก่าลง คนอื่นเห็นแล้วอาจมองว่าเท่ดีนะ แต่เราซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์ของรถรุ่นนี้มาย่อมรู้แก่ใจว่ามันไม่ใช่ ไม่ตรงกับรากเหง้าของรถ ความหมายของความสวยงามกับคุณค่าเป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก ไม่ว่าจะเป็นสีรถและดีไซน์ดั้งเดิมล้วนสะท้อนคุณค่าในตัวมันเอง ตัวผมสร้างสรรค์รถคันนี้ขึ้นมาก็ไม่ได้ต้องการแต่งไปอวดใครอยู่แล้ว ผมต้องการทำให้มันออกมาดีและรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์เอาไว้ ปี 1955 เป็นปีเฉลิมฉลองรถโฟล์คเต่ารุ่นที่กระจกหน้าเป็นแบบจอไข่ รถเต่าที่ใช้กระจกหน้าทรงนี้มีเฉพาะที่ผลิตในช่วงปี 1953 - 1957 แต่ค่านิยมของคนเล่นรถโฟล์คเต่าคือรถที่ผลิตในช่วงปี 1953 - 1955 โดย หลังจากปี 1955 โฟล์คเต่าเปลี่ยนมาใช้จอไข่อีกแบบหนึ่ง ดังนั้นเป็นที่รู้กันในหมู่คนเก็บรถเต่าว่าเราควรเก็บรถปี 1953 ซึ่งเป็นรุ่นแรก และปี 1955 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้จ่อไข่แบบดั้งเดิม พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ารุ่นอื่นไม่ดีนะ แต่เมื่อเรารู้อยู่แก่ใจว่ารถผลิตในปีนั้นๆ เราก็ต้องพยายามปั้นปีให้ถูกต้อง ถามว่าในปัจจุบัน ยังมีรถเต่าปี 1953 และ 1955 ให้เก็บอยู่มั้ย? ตอบได้ว่ามีนะ แต่มีในสภาพที่รถถูกดัดแปลงไปมากจน
ไม่สามารถเห็นเลข chassis ที่จะระบุปีรถได้อีกแล้ว รถเต่าเดิมๆ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยกาลเวลาและช่างที่ทำรถคันนั้นๆ
โลโก้ที่ประดับอยู่ด้านหน้ารถ เราเรียกกันในหมู่คนเล่นรถโฟล์คว่า "หมาแดงกำแพงขาว" เป็นโลโก้ที่มีเสน่ห์ เจ้าของรถเต่าหลายๆ คนมักจะสรรหามาแต่งรถของตัวเอง รวมไปถึงกับรถ Porsche classicบางคันด้วย แต่ในความเป็นจริงนั้น โลโก้นี้จะมีเฉพาะบนตัวถังรถโฟล์คเต่าปีเก่าๆ ที่เค้าเรียกว่าว่ารุ่นตาหวาน หรือรุ่น "จอไข่ ไฟกระดก ถลกหลัง" ถามว่าหายากมั้ย ผมว่ามันหายากแม้กระทั่งโครงรถ 'จอไข่'
หมายถึงรูปทรงกระจกกันลมดังที่เล่าให้ฟัง 'ไฟกระดก' คือไฟเลี้ยวแบบกระดกขึ้นด้านข้างตัวถัง 'ถลกหลัง'
ก็คือเจาะหลังคาผ้าใบ... อย่างที่เล่าให้ฟังว่ารถโฟล์คเต่าเป็นรถคันแรกที่ผมซื้อมาใช้เอง จนในปัจจุบันผมมี Porsche มาแล้วหลายคัน เมื่อได้มีโอกาสกลับมาเล่นรถเต่าอีกครั้ง ผมจึงอยากสะท้อนรสนิยมส่วนตัวด้วยการใส่หัวใจของ Porsche ลงไปในพื้นฐานดั้งเดิมของรถเต่า จากเครื่องเดิมที่เป็นเครื่อง "1,100 ฐานตึก" แต่เมื่อคุณเปิดฝากระโปรงหลังรถคันนี้คุณจะได้เห็นเครื่องยนต์ "1,100 ฐานตึก" ที่ใช้ก้านสูบของ Porsche 356 ซึ่งเป็นรถ Porsche รุ่นแรกของโลก ซึ่งผลิตขึ้นโดยบล็อกโรงงานเดียวกันในปี 1955 โรงงานหนึ่งผลิตให้ Volkswagen โรงงานหนึ่งผลิตให้ Porsche แต่ในส่วนของ Porsche จะปรับแต่งให้มีแรงม้าที่สูงขึ้น สปีดดีขึ้น นอกจากนั้นผมยังใส่กรองอากาศของ Alcazar ท่อไอเสียของ Abbarth จนออกมาเป็นเครื่องยนต์ที่มีความสมบูรณ์แบบขึ้น พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่ลุงเชยๆ ละกัน (หัวเราะ) DNA ที่แสดงสายสัมพันธ์ของโฟล์คเต่ากับ Porsche ก็คือระบบระบายความร้อนแบบ Air Cooled ซึ่งติดตั้งในเครื่องยนต์ของ 911 มาตลอดจนถึงรุ่น 993 ทุกวันนี้นักสะสม Porsche โหยหารถที่เป็น Air Cooled ท่ามกลางข้อกังขาของอีกหลายๆ คนถึงประสิทธิภาพของมัน แต่นี่ไง Air Cooled ต้นตำหรับของเครื่องยนต์ Boxster ที่ยิ่งใหญ่ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันยังคงใช้งานได้อย่างดี แข็งแรง ทนทาน
แม้จะมีอายุกว่า 60 ปี ซึ่งเครื่องยนต์ในรถเต่าคันนี้ไม่ใช่เครื่องที่ผลิตใหม่ แต่เป็นการรีบิวท์ “โลโก้ที่ประดับอยู่ด้านหน้ารถ เราเรียกกันในหมู่คนเล่นรถโฟล์คว่า
"หมาแดงกำแพงขาว" เป็นโลโก้ที่มีเสน่ห์ เจ้าของรถเต่าหลายๆ คนมักจะสรรหามาแต่งรถของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงนั้น โลโก้นี้จะมีเฉพาะบนตัวถังรถโฟล์คเต่าปีเก่าๆ ที่เค้าเรียกว่าว่ารุ่นตาหวาน หรือรุ่น "จอไข่ ไฟกระดก ถลกหลัง"…”
วงการคนเล่นรถโฟล์คเต่าทุกวันนี้มีความหลากหลายขึ้น ผมมองว่าเป็นเรื่องดีนะ สังคมรถเต่าเป็นสังคมที่น่ารัก วัฒนธรรมหนึ่งที่ผมประทับใจคือเวลาคนขับรถเต่าสวนกัน เขาจะกระพริบไฟหน้าให้กัน มันเหมือนยิ้มให้กันน่ะ ผมว่ามันน่ารักดีและแสดงให้เห็นว่าคนเล่นรถเต่าพวกเราไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น เต่าก็คือเต่าแม้ว่าจะแตกต่างกันในสไตล์การเล่นรถ บางคนเล่นแบบ Rat Look สนิมทั้งคัน โหลดเตี้ยลากติดดินมาเลย เมืองนอกนิยมกันมากสไตล์นี้ ถามว่าผมชอบมั้ย ชอบนะ แต่ผมไม่มีโอกาสได้ทำ สำหรับบางคนเล่นแบบ อนุรักษ์ ทำรถให้เดิมๆ มากที่สุด ยางขอบขาว ช่วงล่างจะดูสูงๆ นิดนึง ผมก็ชอบเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเล่นรถเต่า เราสามารถใส่ครีเอทีฟไอเดียลงไปให้มันมี look โดดเด่นเฉพาะตัวอย่างไรก็ได้ แต่หัวใจสำคัญคือ ขอให้ตรงรุ่น รายละเอียดทางประวัติศาสตร์ต้องมี ต้องศึกษา
ทุกวันนี้มีช่างฝีมือและศูนย์บริการเฉพาะทางของคนรักรถเต่าเกิดขึ้นมากมาย แข่งขันกันปั้นงานดีๆ ออกมาผมว่าเด็กรุ่นใหม่เขาเก่ง เมื่องานดีไซน์มันเปิด ทุกอย่างก็มีการพัฒนา งานทำสีดีขึ้น งานเก็บรายละเอียดดีขึ้น วงการคนเล่นรถเต่าในต่างประเทศมีคำกล่าวว่า “It’s not a car, it’s a Volkswagen” พวกเราคนเรียนศิลปะก็คิดเช่นนั้น มันไม่ใช่รถ มันคืองานศิลปะ ที่เราสามารถสร้างสรรค์งานศิลป์ลงไปได้ตลอด
ทุกยุคทุกสมัย สิ่งสำคัญที่สุดคือใครจะเก็บรายละเอียดได้ดีกว่า พี่กรเองมาสายเยอรมัน นอกจากรถเต่าแล้ว
ก็ยังมีรถเยอรมันคลาสสิกที่ชอบอีกหลายรุ่น อย่าง BMW 2002, Audi รุ่นเก่า พี่กรก็ชอบนะ แต่รายละเอียดเราไม่ได้ไง เราไม่สามารถปั้นให้ออกมาดีได้เท่ารถเต่า เพราะเรายังไม่เข้าใจในรายละเอียดของรถรุ่นนั้นๆ มากพอ การปั้นรถเต่ามันเป็นตัวของเราเองมากที่สุด เราสนุกกับการเก็บรายละเอียด แม้รายละเอียดย่อมหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น คนอื่นอาจจะล้อว่าเราทำรถคันนี้แพงเกินไป แต่เราทำเพื่อสนองตัวเอง ไม่ใช่สนองคนอื่น
อัตลักษณ์ของรถคันนี้ที่สะท้อนอัตตาของเรามากที่สุดคงจะเป็นสีตัวถัง และช่วงล่างโหลดเตี้ย
ผมชอบรถเตี้ยๆ รถผมเตี้ยทุกคัน (หัวเราะ) ขับลำบากจนชิน ที่สำคัญเครื่องต้องดี รถทำมาเนี้ยบๆ แบบนี้ขับไปตายกลางถนน อายเขาแย่ (หัวเราะ) โดยภาพรวมทุกสิ่งทุกอย่างในรถคันนี้มันก็ล้วนสะท้อนความฝันในวัยเด็กของผมซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เมื่อผมมาเจอมันอีกครั้งในวัย 40 กว่า ในสถานะที่เรามีความพร้อม
ผมจึงทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่ ไม่เคยคิดถึงเรื่อง resale value เลย เพราะมันไม่ใช่ซูเปอร์คาร์ มันคือรถเต่า
ธรรมดาๆ เวลาขับไปจอดที่ไหนมีคนเข้ามาชื่นชมตื่นเต้น บางทีผมก็งงนะ จะตื่นเต้นทำไมกัน นี่มันรถธรรมดาๆ ผมมีคนรู้จักหลายคนที่เล่นซูเปอร์คาร์มาแล้วมากมาย แต่เมื่อมาเจอรถผมก็ยังอยากได้ ถามผมว่า เฮ้ย กร
ซื้อที่ไหน อยากได้บ้าง... แต่ประเด็นมันไม่ใช่เรื่องซื่อที่ไหน ราคาเท่าไหร่ ประเด็นอยู่ที่นี่คือความสนุกของเราที่ได้ปลุกปั้นมันขึ้นมาจากความทรงจำ ความสนุกไม่ได้อยู่ที่เสาะแสวงหาซื้อมาด้วยเงินแล้วขับออกไปโชว์
“รถเต่าเหมือนประวัติศาสตร์สถาปัตย์ มันเป็นการสอนให้เราซึมซับกระบวนการคิดของคนยุคนั้นๆ ว่าทำไมเขาจึงออกแบบงานสถาปัตยกรรมแบบนี้ขึ้นมา ต่อให้คุณมีครีเอทีฟล้ำหน้าใครๆ คุณก็ต้องศึกษารากเหง้าให้ถ่องแท้เสียก่อน”
รถเต่าเหมือนประวัติศาสตร์สถาปัตย์ เด็กสถาปัตย์ตั้งแต่รุ่นพี่กรมาจนถึงรุ่นใหม่ๆ ยังไงทุกคนก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ สถาปัตย์ในแต่ละยุค มันเป็นการสอนให้เราซึมซับกระบวนการคิดของคนยุคนั้นๆ
ว่าทำไมเขาจึงออกแบบงานสถาปัตยกรรมแบบนี้ขึ้นมา ต่อให้คุณมีครีเอทีฟล้ำหน้าใครๆ คุณก็ต้องศึกษารากเหง้าให้ถ่องแท้เสียก่อน การได้มาศึกษารถโฟล์คเต่าก็เหมือนที่เด็กสถาปัตย์ได้ศึกษา floor plan ของสถาปนิกยุคเก่า มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ งานสถาปัตยกรรมยุคเก่าถูกคิดขึ้นมาเพื่อให้ดูแลรักษาง่าย เช่นเดียวกับงานออกแบบยนตรกรรม คุณจะเห็นว่าระบบไฟฟ้า ระบบแมคานิคัลในรถเต่าคันนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน รถแบบนี้มันไม่พึ่งช่าง แต่มันพึ่งเจ้าของรถ...ที่ดูแลรถได้ ต่างกับรถรุ่นใหม่ๆ ที่มันต้องพึ่งช่างเทคนิค พึ่งเครื่องมือทันสมัย เบสิคของรถโฟล์คเต่าคือดูแลง่าย เปรียบได้กับงานสถาปัตยกรรมที่ดี ทุกวันนี้ผมมองรถเต่า ของตัวเองแล้วก็มองไปที่ลูกๆ 2 คน ลูกผมนั่งฮอร์นกริลล์มาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ผมเองได้รู้จักกับคุณมุ่ย (ภรรยาพี่กร) ก็ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งตอนนั้นใช้รถเต่าคันแรก ดังนั้นผมอยากจะทำรถคันนี้เก็บไว้เป็นมรดกให้ลูก นึกภาพอีก 20 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นบนท้องถนนอาจเป็นรถพลังงานไฟฟ้าหมดแล้ว
แต่ลูกชายคนโตผมชื่อจิตกร ยังได้ขับรถ air cooled ไปเรียนมหาวิทยาลัย ถ้าเวลานั้นยังมีน้ำมัน 95nขายอยู่นะ (หัวเราะ) มันคงจะโก้มาก ในมุมมองของเรา เพื่อนๆ จิตกรอาจจะล้อว่า เฮ้ย พ่อมึงให้รถอะไรมาวะ
แต่อย่างน้อยเมื่อได้ขับรถคันนี้ลูกจะนึกถึงผม... มันเป็นภาพในจินตนาการของผมซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อลูกๆ โตขึ้นมาจะคิดเหมือนผมมั้ย แต่ที่รู้ก็คือทุกวันนี้พวกเขาสนุกกับสิ่งที่พ่อทำ ผมพาเขาไปที่อู่นาไกซัง อยู่ที่นั่นเป็นสัปดาห์ เขาก็ไม่เบื่อ บนคอนโดมี Ferrari อยู่หลายคันเขาไม่เคยชี้ ชี้แต่รถเต่ากับรถ Porsche ของพ่อ (หัวเราะ)