Last updated: 2 มิ.ย. 2563 | 878 จำนวนผู้เข้าชม |
18.30 น. ของวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1910 ผู้บุกเบิกด้านการบิน ชาร์ลส์ สจ๊วต โรลส์ ทะยานสู่ฟากฟ้าจากสนามบินใกล้เมืองโดเวอร์ ด้วยเครื่องบินที่ดูเปราะบางเพียงลำพัง เพื่อทำภารกิจเดินทางไป-กลับข้ามช่องแคบอังกฤษแบบไม่หยุดพัก เป็นครั้งแรกของโลก
กว่า 1 สัปดาห์ที่เขาอดทนรอด้วยความอึดอัด เนื่องจากลมแรง หมอก และปัญหาเครื่องยนต์ ทำให้ไม่สามารถขึ้นบิน แต่ในที่สุด สภาพอากาศก็สงบและฟ้าก็กระจ่างใส ท่ามกลางฝูงชนที่อยู่บนหน้าผาเพื่อเฝ้ารอดูวีรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของเขายังมี บิดา-มารดา ลอร์ดและเลดี้ลันกัตทอค (Llangattock) รวมถึงเซอร์จอห์นและเลดี้เชลลีย์ น้องสาวและน้องเขย
จากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟ (Daily Telegraph) โรลส์ บินขึ้นไปแตะความสูงถึง 900 ฟุตด้วยความเร็วประมาณ 40 ไมล์ต่อชั่วโมง ระหว่างที่เขากำลังมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งของประเทศฝรั่งเศส เวลา 19.15 น. ขณะกำลังบินอยู่เหนือเมืองเล็กๆ ชื่อว่า ซ็องกัตต์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของปากของอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษในปัจจุบัน โรลส์ เอี้ยวตัวออกมาโปรยจดหมาย 3 ฉบับ ที่ถ่วงน้ำหนักไว้ โดยมีข้อความว่า “สวัสดีสโมสรยานยนต์แห่งฝรั่งเศส…จดหมายนี้ถูกโปรยลงมาจากเครื่องบินของพี่น้องตระกูลไรท์ขณะที่กำลังบินข้ามจากอังกฤษไปยังฝรั่งเศส – ช.ส. โรลส์, มิถุนายน ค.ศ. 1910 – ปล. ชาติไตรภาคีจงเจริญ” (Greetings to the Auto Club of France…Dropped from a Wright aeroplane crossing from England to France. C. S. Rolls, June 1910. P.S. Vive l’Entente)
หลังจากนั้น เขาก็ย้อนกลับขึ้นเหนือและมุ่งสู่ชายฝั่งอังกฤษ และมาถึงเมืองโดเวอร์ เวลา 20.00 น. หนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟ รายงานว่า “บริเวณชายฝั่งทะเล หน้าผา และท่าเรือ คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่รอคอยด้วยความตื่นเต้นอย่างที่สุด” และ โรลส์ ก็ได้มอบรางวัลให้พวกเขา ด้วยการบินโชว์อย่างมีสีสัน เขาบินเป็นวงกลมรอบหอคอยด้านนอกของปราสาทยุคกลางของเมือง “ตอนนั้นยังเหลือน้ำมันเครื่องอยู่มาก และเครื่องยนต์ก็ทำงานได้ยอดเยี่ยม ผมเลยตัดสินใจบินวนรอบปราสาทสักหน่อย แม้ต้องบินนานขึ้นอีกมากก็ตาม” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวของเทเลกราฟ วีรกรรมของเขาเป็นที่ชื่นชอบของฝูงชน และเป็นมากกว่าแค่ความบันเทิง เพราะทุกคนทราบดีว่า พวกเขาได้เป็นประจักษ์พยานในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์
จากการผจญภัยที่ใช้เวลา 95 นาที โรลส์ ได้บันทึก 2 ประวัติศาสตร์สำคัญ โดยเป็นชาวอังกฤษคนแรกที่ขับเครื่องบินข้ามช่องแคบอังกฤษ และเป็นนักบินคนแรกที่บินไป-กลับ ระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสโดยไม่หยุดพัก
เที่ยวบินนั้นกลายเป็นข่าวใหญ่ และทำให้ โรลส์ กลายเป็นคนดังระดับชาติ กษัตริย์จอร์จที่ 5 ที่เพิ่งขึ้นครองราชสมบัติ ได้ส่งโทรเลขส่วนบุคคลถึง โรลส์ มีใจความว่า “พระราชินีและข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีอย่างยิ่ง สำหรับการบินข้ามช่องแคบอันน่าทึ่งของคุณ – จอร์จ ร.อ.” สโมสรยานยนต์ของอังกฤษและฝรั่งเศส ต่างมอบรางวัลพิเศษให้เขา และมาดามทุสโซผู้โด่งดังแห่งกรุงลอนดอน ก็เริ่มปั้นหุ่นขี้ผึ้งของ โรลส์ อีกด้วย ขณะเดียวกันนิตยสารการบิน ไฟลท์ แมกกาซีน (Flight Magazine) ได้ยกย่องจิตวิญญาณแห่งความหรูหราของเขา และกล่าวสรรเสริญว่า การข้ามช่องแคบของ โรลส์ นั้นไม่ได้ทำ ‘แค่ในนามของการสร้างความทรงจำแห่งชัยชนะ’ และ ‘ไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเงินแม้แต่น้อย’ ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่น่าจะสร้างความหงุดหงิดใจให้ โรลส์ อยู่บ้าง เพราะเขาใช้เงินของตนเองกว่า 300,000 ปอนด์สเตอร์ลิง (มูลค่าปัจจุบัน) ไปกับการบินในช่วงครึ่งแรกของปี 2453 เพียงลำพัง อาจจะเป็นเพราะรายงานข่าวฉบับนี้ก็ได้ ที่ทำให้เขากล่าวเป็นเชิงเหน็บแนมว่า “นี่เป็นครั้งเดียวเลยที่ผมสามารถนำน้ำมันเชื้อเพลิง 10 แกลลอนเข้าและออกจากประเทศฝรั่งเศสโดยไม่ต้องเสียภาษี”
เที่ยวบินที่ทำลายสถิติของ โรลส์ เกิดขึ้นไม่ถึง 1 ปี นับจากวันที่หลุยส์ เบลริโอต์ ทำให้โลกตะลึงด้วยการบินครั้งแรกจากฝรั่งเศสไปอังกฤษช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2452 ทำให้เราเห็นว่าเทคโนโลยีการบินและเครื่องบินพัฒนาไปเร็วเพียงใด โรลส์ บินไป-กลับข้ามช่องแคบด้วยเครื่องบินไรท์ ฟลายเออร์ (Wright Flyer) ที่ออกแบบโดยวิลเบอร์และออร์วิลล์ ไรท์ (Wilbur and Orville Wright) สองพี่น้องที่ได้จารึกประวัติศาสตร์การบินครั้งแรกของโลก ด้วยการเหินฟ้าในเครื่องจักรกลที่หนักกว่าอากาศ เมื่อ 7 ปีก่อน ช่วงปี พ.ศ. 2446
การบินในช่วงเวลานั้น ตอกย้ำให้เห็นถึงความอันตรายของการผจญภัย เพราะเครื่องบินลำดังกล่าวผลิตจากไม้และผ้ารองรับด้วยโครงปีกและสายไฟ ช่วงปีกทั้งหมดมีความยาวเพียง 12 เมตร และมีน้ำหนักรวมเพียง 457 กิโลกรัม หรือเทียบเท่าแกรนด์เปียโน 1 หลัง การบินข้ามทะเลจึงมีความอันตราย และดูเหมือนว่า โรลส์ เพิ่งจะตัดสินใจบินกลับ ตอนที่เขากำลังบินอยู่เหนือเมืองซ็องกัตต์ และย้ำกับตัวเองจนแน่ใจว่า ทุกอย่างเรียบร้อยดี ระบบความปลอดภัยมีเพียงเสื้อชูชีพและ 4 ทุ่นลอยขนาดใหญ่ บริเวณช่วงล่างของเครื่องบิน หนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟ ตั้งข้อสังเกตสั้นๆ ว่า “เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ไม่จำเป็นต้องทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์เหล่านั้น”
โรลส์ มีทั้งประสบการณ์และความกล้าหาญที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เส้นทางอาชีพนักบินของเขา คือ เรื่องราวของประวัติศาสตร์การในยุคนั้นอย่างแท้จริง โรลส์ เกิดช่วงปี 2420 และมีความประทับใจในเครื่องยนต์มาตั้งแต่วัยเรียน เขาสำเร็จปริญญาด้านเครื่องกลและวิทยาศาสตร์ประยุกต์จากวิทยาลัยทรินิตี้ เคมบริดจ์ (Trinity College, Cambridge) และสนใจการบินตั้งแต่แรก เขาเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของสโมสรการบินหลวง (Royal Aero Club) ในฐานะนักบินบอลลูน และขึ้นบินกว่า 170 เที่ยวบิน พร้อมคว้ารางวัลเหรียญทอง กอร์ดอน เบ็นเน็ตต์ (Gordon Bennett) ในปี 2446 หลังทำเวลาอยู่เหนือพื้นดินได้นานที่สุด โดยช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2452 เมื่อสองพี่น้องตระกูลไรท์ เดินทางจากสหรัฐอเมริกามาอังกฤษ ในฐานะแขกของสโมสรการบินหลวง โรลส์ ก็ได้ทำหน้าเป็นผู้ดูแลพวกเขาอย่างเป็นทางการ แลในปีถัดมา เขาก็กลายเป็นพลเมืองของสหราชอาณาจักรคนที่ 2 ซึ่งได้รับใบอนุญาตนักบิน
หลังจากการพบกันครั้งแรกช่วงปี 2447 โรลส์พยายามชักชวน เฮนรี รอยซ์ ให้ผลิตเครื่องบิน แต่ไม่เป็นผล ถ้าหากเขาทำสำเร็จ จะมีสิ่งวิเศษอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราคงทำได้แค่เพียงคาดเดา แต่ถึงกระนั้น โรลส์ ก็ไม่ถอดใจ และซื้อเครื่องบินไรท์ ฟลายเออร์ และทำการบินกว่า 200 เที่ยวบิน
แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น หลังจากการข้ามช่องแคบเพียง 1 เดือน โรลส์ ก็เสียชีวิตไปพร้อมกับเครื่องบินลำนี้ ในวันที่ 12 กรกฏาคม 2453 ระหว่างการแข่งที่เมืองบอร์นมัธ ส่วนหางของเครื่องบินหัก ทำให้เครื่องตกสู่พื้นจากความสูง 100 ฟุต ใกล้กับอัฒจรรย์ที่คนแน่นขนัด เหลือเพียงซากที่พันกันยุ่งเหยิงของโครงปีกและผ้าใบ
ส่งผลให้กะโหลกศีรษะร้าว และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เขาเป็นคนที่ 12 ในประวัติศาสตร์ และเป็นชาวอังกฤษคนแรก ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางเครื่องบิน โดยเขาจากไปก่อนจะมีอายุครบ 33 ปี เพียงไม่กี่สัปดาห์
แม้ โรลส์ จะมีชื่อเสียงอย่างมากในปัจจุบัน จากความสำเร็จด้านยานยนต์ของเขา แต่ผลงานการบินของเขานั้นก็ยิ่งใหญ่และสำคัญไม่แพ้กัน โดยช่วงเดือนเมษายน 2455 มีการสร้างรูปปั้นอนุสรณ์การข้ามช่องแคบไป-กลับของเขา ที่สวนกิลฟอร์ด (Guilford Gardens) ริมทะเลที่เมืองโดเวอร์ ปัจจุบันรูปปั้นดังกล่าวตั้งอยู่ที่สวนมารีน พาเหรด (Marine Parade Gardens) ซึ่งมีการส่งมอบครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1912 โดยประธานของ โรลส์-รอยซ์ เฮอริเทจ ทรัสต์ (Rolls-Royce Heritage Trust)
มร.ทอร์สตัน มูเลอร์-ออทเวิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรลส์-รอยซ์ มอเตอร์ คาร์ส กล่าวว่า “ตัวตนของ ชาร์ลส์ โรลส์ คือ ผลรวมของความเชี่ยวชาญทางเทคนิค จิตวิญญาณอันกล้าหาญ และความรักในการผจญภัย จึงไม่น่าแปลกใจที่การบินและยานยนต์ จะมีพลังดึงดูดจนแทบจะเหมือนเวทมนตร์สำหรับเขา นับเป็นผู้บุกเบิกที่แท้จริงในศาสตร์ทั้ง 2 แขนง และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเครื่องบินและรถยนต์ ผ่านวีรกรรมที่เป็นสถิตินับไม่ถ้วน”
“โรลส์ ท้าทายขีดจำกัดของสิ่งที่หลายคนเคยเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ดังที่การบินข้ามช่องแคบได้แสดงให้เห็น และกล้าที่จะไปให้ไกลกว่าเดิม เสมือนได้เปิดโลกใบใหม่ ให้กับเทคโนโลยีและความทะเยอทะยานของมนุษย์ ความสำเร็จมากมายในชีวิตอันแสนสั้น เป็นสิ่งที่วิเศษและสร้างแรงบันดาลใจ โดยกว่า 100 ปี ให้หลัง จินตนาการและความกล้าหาญของเขา ก็ยังคงโลดแล่นอยู่ในบริษัทของเรา” เขากล่าวเสริม
มร.ทอร์สตัน สรุปว่า “สมควรอย่างยิ่งที่เราจะรำลึกถึงเที่ยวบินที่น่าทึ่งของเขาในปีนี้ นอกจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของวันครบรอบปีที่ 110 ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องเผชิญหลายข้อจำกัด ที่ตีกรอบเสรีภาพในการเดินทางและสำรวจของเรา สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้เราต้องมองออกไปข้างนอก ไปให้ไกลเหนือเส้นขอบฟ้า และฝันถึงการผจญภัยของเราในอนาคต เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่า ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้”