Last updated: 4 พ.ย. 2562 | 3267 จำนวนผู้เข้าชม |
ในเกม Angry Bird ยอดฮิต จะมีนกตัวสีเหลืองๆ ที่มีอ๊อพชั่นแตะที่ตัวแล้วจะพุ่งไปข้างหน้าเยี่ยงขีปนาวุธ นั่นทำให้เรานึกถึงคุณสมบัติของอภิมหาซูเปอร์ในตำนาน 1987 RUF CTR หรือฉายา The Yellowbird ขีปนาวุธทางเรียบเยอรมันในตำนานที่มาปรากฏตัวสดๆ ให้เห็นเป็นบุญตา ณ โชว์รูม Royal Motors ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ RUF แห่งเดียวในเอเชียอาคเนย์
Yellowbird คันนี้เป็นอนุสรณ์ความภาคภูมิใจของทั้ง Alois Ruf Jr. แห่ง RUF Automobile และคุณฮิม อิสริยะ บอสใหญ่ Royal Motors มันถูกบำรุงรักษาเป็นอย่างดีผ่านวันเวลาเกิน 2 ทศวรรษ ปกติแล้วการหาชมตัวเป็นๆ ของ CTR 'Yellowbird' เป็นเรื่องที่เข็ญใจเกินพอๆ กับหานักการเมืองซื่อสัตย์สุจริตในบางประเทศ การพบในโรงจอดรถของเศรษฐีคหบดีท่านใดนั้นก็ถือว่าเป็นบุญวาสนาแล้ว แต่ยิ่งเป็นการพบเห็นบนท้องถนนปกติหรือบนแทร็คในงาน weekend racing ใดๆ ยิ่งเป็น mission impossible ในปัจจุบันซูเปอร์คาร์รุ่นนี้ถูกขึ้นหิ้งแบบปิดทอง จุดธูป ผู้ครอบครองมักเก็บรักษาไว้ในเชิงการสะสมมากกว่านำออกมาอาละวาด แต่เราก็จะเห็นได้ว่าในบางประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ มีการนำ Yellowbird มา tune up ใหม่ ลงทดสอบบนสนามไปจนถึงประลองกับ Ferrari บ้าง Porsche บ้างให้วุ่นวายอยู่เนืองๆ
นั่นเป็นเรื่องของนิสัยใจคอที่ต่างกันในการเล่นรถ กรณีนี้กล่าวถึงเจ้าของรถจริงๆ เท่านั้น เพราะว่าถ้าเป็นการขับทดสอบและการประลองผ่านสื่อที่ท่านได้เห็นกันมาบ้างในอินเตอร์เน็ตนั้น คือรถและโปรแกรมการเทสไดรฟ์โดยทาง RUF Automobile เอง ส่วนในสหรัฐฯ นั้น สสารที่จัดเป็น The Real Deal เป็นสิ่งที่มีค่า มีราคา น่าทุ่มเงินมหาศาลเพื่อให้ได้มาครอบครอง สิ่งนั้นจะต้องยังคงใช้งานได้ และยังต้องแสดงศักยภาพในตำนานเล่าขานของมันออกมาให้เห็น คนอเมริกันชอบเก็บประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ พวกเขามีความกระหายใคร่รู้ถึงความโหดอันเป็นที่เล่าขานของซูเปอร์คาร์เยอรมันเจ้าของสถิติวิ่งเร็วที่สุดในโลกของนิตยสาร Road & Track ในปี 1989 ที่อัตราเร่ง 0-100 km/h ใน 3.8 วินาที และท็อปสปีด 342 km/h แต่ทว่าความกระหายใคร่รู้ของอเมริกันนั้นก็เคยทำลายปูชนียซูเปอร์คาร์ระดับ rare item มาแล้วหลายต่อหลายคัน
หากไม่ใช่ Yellowbird ที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะหาได้ (เพราะเป็นรถของ RUF Automobile เอง) อย่างคันนี้แล้ว ท่านจะหา 1989 CTR แบบครบๆ คันได้อีกจากแห่งหนตำบลไหน? คำตอบจากโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คจะชี้ช่องไปที่เดียวว่าให้ไปลองลากอวนในอ่าว eBay ดูเผื่อจะมีโชค บนโลกใบนี้มี RUF CTR ปี 1989 อยู่ 28 คัน หากจำนวนผลิตในการอ้างอิงของทาง RUF Automobile เป็นข้อมูลถูกต้องและไม่มีอะไรปิดบัง ดังนั้น ไม่ใช่ว่ากด search ปุ๊บก็จะมี seller ดาหน้ากันเสนอขายรถรุ่นนี้อย่างคึกคัก ต้องรอวันดีคืนร้ายของโลกแห่ง The Real Deal จริงๆ ประเภทดาวมฤตยูซ้อนดาวพระศุกร์ แทรกด้วยดาวพฤหัสและทับด้วยดาวพุธอีกชั้น จึงจะปรากฏ Yellowbird แท้ๆ ที่ไม่ใช่แมวการ์ฟิลด์ปลอมตัวมาใน eBay
และเหตุการณ์วันโลกาวินาศเช่นนั้นได้เพิ่งจะเกิดขึ้นไปเมื่อช่วงต้นปี 2012 จนเป็นข่าวฮืฮอาในสังคม real deal เมื่อเจ้าของ 1989 RUF CTR ชาวสหรัฐฯ คนหนึ่งได้ประกาศขาย Yellowbird สภาพเทพๆ แท้ทุกพาร์ท ผ่านหน้าขายสินค้าประเภท automobile ในตลาด eBay แค่เห็นภาพนกขมิ้นมหาโหดปรากฏอยู่ก็เล่นเอาเซิร์ฟเวอร์แทบล่มแล้ว ยิ่งพอได้อ่านรายละเอียดสินค้าและทราบว่านี่คือ 'legendary' ของแท้ไม่มีการดัดแปลง ก็ให้เกิดจลาจลวิพากษ์อย่างรุนแรงในกลุ่มนักประมูลรถแข่งผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เรียกว่าตื่นตะลึงกันไปทั้งวงการ ทั้งเช็คประวัติรถกันให้วุ่นว่าหลุดมาจากมือใคร ประวัติ สภาพรถ เป็นอย่างไร ทุกพาร์ทยังอยู่ครบหรือไม่ และแน่นอนคุณจะหาข้อมูลเปรียบเทียบอย่างสมบูรณ์แบบที่ไหนได้อีก หากไม่ใช่รถเดโมคันต้นฉบับ 1 เดียวคันนี้ที่ยังถูกเก็บรักษาไว้ด้วยสมรรถนะสุดโหด angry yellow bird ทุกประการ ถูกต้องครับ เคสที่เราจะยกให้เปรียบเทียบนี้นับเป็น 1 ในกรณีตัวอย่าง หากวันดีคืนร้ายใด เกิดมี Yellowbird โผล่มาในตลาดออนไลน์อีก อย่างน้อยท่านก็จะมีภาพของโปรโตไทป์ CTR แท้ๆ จาก RUF Museum ให้ได้เปรียบเทียบกัน
1989 RUF CTR Yellowbird ที่เจ้าของชาวสหรัฐฯ ปล่อยขายใน eBay เมื่อเดือนมกราคม ปี 2012 เป็นโปรดัคชั่นคาร์ 1 ใน 26 คันของโลก และ 1 ใน 6 คันที่เป็นบอดี้ไลก์เวทอีดิชั่น ต่างจาก Yellowbird ที่ Royal Motors นำมาโชว์ตรงที่คันนี้เป็นโปรโตไทป์ ผลิตในปี 1987 และใช้เป็นรถแข่งขันจริง เป็นคันเดียวกับที่ทำสถิติวิ่งเร็วที่สุดในโลกในปี 1989 โดยปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของ RUF Automobile และจะถูกนำมาจัดแสดงรวมถึงเทสต์แทร็คบ้างตามโอกาสต่างๆ
โครงสร้างหลักทุกอย่างก็เหมือนกัน อันดับแรกคือขุมพลังทวิน-เทอร์โบสุดยิด! ตัวถังเป็นอะลูมิเนียมไลก์เวท ประกอบขึ้นบนพื้นฐานหลักของรถ Porsche 911 Carrera ปี 1989 โดยผู้ขายได้มีการลงภาพแชสซิสนัมเบอร์ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ความแท้ของรถ แม้ว่าเซียน RUF จะฟันธงตั้งแต่แรกเห็นว่ามันคือ Yellowbird แบบ ‘แท้ตาเปล่า’ ไปแล้ว
เนื่องจากรถมีเพียง 26 คัน ราคาขายของมันจึงไม่มีเกณฑ์กลางเลย ผู้ขายตัดสินใจตั้งราคาไว้เหนาะๆ เบาะๆ ที่ 279,000 เหรียญฯ หรือประมาณ 8 ล้านกว่าบาทไม่รวมภาษี สเป็คอื่นๆ ของมันอาจมีความคลาดเคลื่อนจาก Yellowbird คันนี้นิดๆ หน่อยๆ เพราะแพ็กเก็จอ๊อพชั่นที่ต่างกัน Yellowbird คันดังกล่าวถูกขายไปอย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึง 1 เดือน ด้วยราคาประมูลที่จบลง ณ ตัวเลขใดไม่มีการเปิดเผย
ใน description ของผู้ขาย อ้างว่ารถ Yellowbird ของเขาเป็นคันเดียวที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ เรื่องนี้ก็ตามที่ได้เรียนไว้ว่ายังมีหลักฐานพิสูจน์แบบ 100% ว่ามีกี่คัน อย่างไรก็ดีผู้ขายมีโปรไฟล์ความแท้อย่างดี ด้วยภาพที่เคยขึ้นปกนิตยสาร “9 Magazine” สภาพของรถคันนั้นดูจากภาพแล้วถือว่า เดิมๆ แห้งๆ ผู้ขายอ้างว่าตลอดระยะเวลาที่ครอบครองอยู่ภายใต้การดูแลอย่างดีจากช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญใน 901 shop อู่ชื่อดังใน Palm City มลรัฐฟลอริดา ที่เชี่ยวชาญงาน Porsche 911 โดยเฉพาะ และยังมีหลักฐานการจดทะเบียนยืนยันอีกด้วยว่าเป็นรถที่ผ่านมือเจ้าของมาแค่คนเดียว
จากการประกาศไทยสุดยอด rare item ครั้งนี้ ทำให้เรื่องราวของ Yelllowbird ถูกยกขึ้นมาสัมนากันอย่างหนักหน่วงในโลกออโตโมทีฟอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญการประมูลคลาสสิกคาร์ได้แสดงทัศนะว่า ตามความเชื่อของเขา ในประเทศสหรัฐฯ น่าจะมี 1989 RUF CTR มากกว่า 1 คัน แต่ไม่น่าจะเกิน 2 คัน ซึ่งนอกจากคันที่มีหมายเลขแชสซิส #9559 ที่ลงขายนี่แล้ว อีกคันหนึ่งได้ยินแต่เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ไม่แน่ว่าอาจไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้หรือไม่ก็ถูกโมดิฟายด์ไปไกลขนาดไหนแล้ว
แต่ที่ในวงการนักเล่นคลาสสิกสปอร์ตคาร์ต้องเคยผ่านตามาแน่นอนก็คือคันเดียวกับที่ FOC ได้ไปสัมผัสตัวเป็นๆ มานี่ล่ะครับ เพราะมันเป็นโปรโตไทป์ของ Alois Ruf Jr. เอง ซึ่งมีจุดที่แตกต่างกับโปรดัคชั่นคาร์อยู่ไม่มาก ในส่วนของพาร์ทภายนอก ที่ต่างกันชัดๆ คือ พาร์ทดักอากาศ NCAC บริเวณล้อหลัง
เราไปสืบต่อมาว่าในช่วงหลังๆ นี้มีการปรากฏตัวของ 1989 RUF CTR อีกที่ไหน ในลักษณะใดบ้าง พบว่าในประเทศแคนาดา เคยมี 1989 RUF CTR ถูกนำมาลงแข่งในรายการ Fairfield Country Concours เมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2011 แต่ทว่าคันนั้นเป็นสีแดง นั่นก็เป็นหลักฐานว่า CTR มีการส่งมอบให้ลูกค้าในบอดี้คัลเลอร์อื่นด้วย (ไม่คิดว่าเจ้าของรถจะเอา legadary item ระดับนี้ไปเปลี่ยนสีใหม่) แต่ที่ Yellowbird กลายเป็นสมญาของมัน ก็เพราะภาพลักษณ์ของโปรโตไทป์คันนี้นี่เอง
แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกันอย่างละเอียดแล้ว ท่านจะพบว่าไม่สามารถใช้ Yellowbird คันโปรโตไทป์มาเป็นเกณฑ์ตัดสินความแท้-ไม่แท้ของ 1989 RUF CTR ที่เหลืออีก 25 คันได้ถึงขั้น 100% เพราะสถานะของมันเป็นซูเปอร์คาร์แบบ customization ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเก็จที่ส่งมอบให้ลูกค้า หรือแพ็กเกจ aftermarket รายละเอียดของแต่ละคันก็จะแตกต่างกันไปตามอำเภอใจผู้จ่ายเงิน ที่สำคัญระยะเวลามันผ่านมาเกิน 20 ปี ซูเปอร์คาร์จำพวกนี้ย่อมต้องผ่านการโมดิฟายด์จาก tuner มาแล้วอย่างโชกโชน ดังนั้นหลักการดูซูเปอร์คาร์ในรุ่นดังกล่าวก็จะคล้ายๆ กับการดูซูเปอร์คาร์ยุค 80s แบรนด์อื่นๆ คือดูที่การดัดแปลงสภาพในจุดต่างๆ พาร์ทที่ใช้เป็นรูปแบบของการ tune up รถในยุค 80s มากน้อยเพียงใด และโครงสร้างพื้นฐานเดิมๆ ยังคงมีเปอร์เซ็นต์สมบูรณ์สักขนาดไหน ตรงนี้เองที่อาจจะสามารถใช้ข้อมูลภาพของ Yellowbird โปรโตไทป์ไปเปรียบเทียบได้
ถ้าสมมุติว่าท่านจะหา 1989 RUF CTR ที่ยังเหลืออยู่มาไว้ในครอบครอง ก็ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ของตัวเองให้ดี เป็นไปได้น้อยมากที่ท่านจะได้ Yellowbird แบบเดิมๆ จากโรงงาน RUF ดังนั้นหากท่านเลือกเล่นเพื่อการสะสม อย่างน้อยก็ต้องให้ได้รถที่มีการโมดิฟายด์ด้วยอะไหล่และเทคนิคของยุค 80s ถึง 90s ต้นๆ ให้ได้มากที่สุด โดยอาจจะอิงจากข้อมูลรถแข่ง Porsche 911 รุ่นเดียวกัน ส่วนท่านที่อยากจะหา Yellowbird มาไว้ใช้แข่งหรือเอาไปโชว์ตัวในงาน racing event ต่างๆ มันก็จำเป็นที่ต้องได้รถซึ่งผ่านการโมดิฟายด์ด้วยพาร์ทแมคานิคและเทคนิคสมัยใหม่ นั่นหมายถึงรถได้ผ่านการบำรุงรักษามาตลอดเวลา
แต่พาร์ทหลักๆ จะยังคงต้องเหมือนกันทั้ง 26 คัน ได้แก่ขุมพลัง ทวิน-เทอร์โบ 3.4 ลิตร 525 แรงม้า แรงบิด 475 ปอนด์-ฟิต ที่ 5,000 rpm เรดไลน์ 7,400 rpm ซึ่งเป็นบล็อก street/racing engine ที่ RUF โมดิฟายด์ขึ้นเองจากพื้นฐานเครื่องยนต์ของ 911 ในปี 1972 นอกจากนั้นก็คือรายละเอียดในพาร์ท interior ซึ่งทำให้ Yellowbird กลายเป็น Yellowcat มานักต่อนัก ท่านต้องไม่ลืมความจริงที่สุดว่า RUF ไม่ใช่ Porsche สิ่งที่ทั้ง 2 แบรนด์แชร์กันคือ anatomy ของโมเดล 911 และ 1989 RUF CTR ก็เหมือนกับ RUF ทุกคันในปัจจุบันที่จะต้องมี ‘integrated roll-cage’ (มาตรฐาน German Matter FIA) หรือกระดูกอ่อนที่สัมผัสได้อยู่ภายในห้องโดยสาร ตรงนี้เองที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้จากภาพถ่ายที่โพสต์ลงอินเตอร์เน็ต มันจะต้องสัมผัสเองกับมือ ดูเหมือนเป็น invisible parts แต่จริงๆ แล้วมันต้องเป็น visible parts
การหา reference รถ RUF รุ่นนี้จากภาพถ่ายจึงเป็นเพียงความรู้รอบตัวเบื้องต้นเพียงไม่ถึง 50% ที่จะดูว่า CTR คันไหนแท้คันไหนย้อม
นอกจากนั้นก็ต้องดูเรื่องช่วงล่าง ซึ่งมันเป็น invisible parts ตรงนี้เองที่วิดีโอทดสอบ Yellowbird โปรโตไทป์คันนี้ซึ่งมีอยู่ในอินเตอร์เน็ตพอสมควรอาจพอจะช่วยได้บ้าง เพราะทางผู้ขับทดสอบก็จะมาสรุปฟิลลิ่งและคาแร็คเตอร์ของรถทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการเทสต์ ฟิลลิ่งช่วงล่างของ CTR ฉบับออริจินัลมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว RUF ออกแบบมาเพื่อคาแร็คเตอร์แบบ yellow ‘angry’ bird โดยเฉพาะ หากรถ CTR คันใดดันเอาไป tune up ช่วงล่างที่ไม่ใช่ออริจินัลมาล่ะก็ ถือเป็นอนันตริยกรรมขั้นให้อภัยกันไม่ได้ในวงการ the real deal กันเลยทีเดียว
ส่วนเรื่องแพ็กเกจตกแต่งนั้น ต้องดูของโปรโตไทป์นี่เป็นหลัก RUF ใช้ RS Package ตกแต่งภายในห้องโดยสาร ทุกอย่างต้องเป็น lightweight ทั้งหมดแม้กระทั่งพรม และสีดำนั้นคือสีมาตรฐานของ interior design ใน Yellowbird ส่วนของจำพวก Boost Gauge และ Brake Bias Adjuster ก็จะต้องอยู่ในโพสิชั่นตามแบบฉบับรถแข่งแท้ๆ เบาะคู่หน้า Recaro Kevlar Racing Seats ต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 4 ปอนด์ มาพร้อมเข็มขัดนิรภัย Sabelt 6-point Harnesses, โรลล์-เคจ ต้องเป็นมาตรฐานของ German Matter FIA, กระจกรถเป็นสไตล์ของ RSR
อีกพาร์ทที่ต้องดูกันให้ดีๆ คือด้านหน้าของรถ เพราะว่าภารกิจหลักของ CTR ทั้ง 26 คันคือเอาไว้แหวกอากาศไปข้างหน้าอย่างบ้าคลั่งในสนามแข่ง มันต้องผ่านการกระทบกระแทกตั้งแต่เบาไปหาหนักมาบ้างอย่างนอนแน่ การรักษาความดั้งเดิมไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับแง่มุมการอนุรักษ์ ออริจินัลของ Yellowbird ต้องมี Aerodynamic headlight lens covers และต้องไม่มี rain gutters อย่างเด็ดขาด เพราะ RUF ได้ระบุไว้ในสเป็คว่า rain gutters นั้นเป็นอุปสรรคของระบบอากาศพลศาสตร์ drag
Yellowbird ที่นำมาโชว์นี้ใช้พาร์ทแอโรคิททุกชิ้นเป็นออริจินัลทั้งหมด ซึ่งก็จะเป็นพาร์ทน้ำหนักเบาที่ RUF ออกแบบให้ CTR โดยเฉพาะ (โดยเฉพาะพาร์ทระบายอากาศเบรกหลังนั้นถือว่าพิเศษ และจะไม่ค่อยพบใน CTR คันอื่น) ตรงนี้อาจเป็นเรื่องยากที่อีก 25 คันที่เหลือจะยังอยู่ในสภาพออริจินัลสมบูรณ์ได้เท่า แต่หลักๆ แล้วการซ่อมแซมปรับปรุงแอโรพาร์ทของ Yellowbird ก็จะให้อยู่ในสไตล์ RSR เป็นหลักไว้ก่อนจึงจะดี
ระบบส่งกำลังต้องเป็นเกียร์บ็อกซ์แบบ manual 6-speed เท่านั้น แต่ ring & pinion อาจจะไม่อยู่ยั้งยืนยง สำหรับคันโปรโตไทป์นี้ใช้อัตราทดเดิมที่ 9:31 นอกจากนั้นที่ท่านไม่สามารถเอาภาพโปรโตไทป์ไปเปรียบเทียบกับรถที่อยู่บนโลกอีก 25 คันได้คือพาร์ทแมคานิคัลสำคัญๆ ตามแบบฉบับ RUF อย่างเช่น fuel injectors 12 จุดที่จะควบคุมด้วย brain box configuration, Transmission Pump และ Transmission Oil Cooler ที่วางใน Whaletail ของพวกนี้อย่าไปคาดหวังว่าจะอยู่แบบเดิมๆ
แต่พาร์ทหลักที่เป็น visible และควรจะต้องยังอยู่กับ Yellowbird อย่างยิ่ง ให้ดูตามโปรโตไทป์นี้ไปเลย ล้อต้องเป็น Ruf design ขอบ 17 นิ้ว ล้อหน้า 8.0 หลัง 10.0 ประกบยางไซส์ใดก็ตามแต่มาตรฐาน CTR ที่สวยน่าจะเป็น หน้า 215/45ZR17, หลัง 255/40ZR17 และรถที่สมบูรณ์พร้อมแข่งจริงๆ จะต้องมี slick tires สำรองมาด้วย น่าจะใช้ไซส์ 245/620R 17 และ 265/630R 17 หน้า-หลังตามลำดับ เบรกใช้ rotor จนาด 13 นิ้วทั้ง 4 ล้อ
สำหรับสถิติของ Yellowbird ตัวโปรโตไทป์ เคยมีการเทสต์ไปหลายครั้ง ครั้งสำคัญๆ ก็มีที่ทดสอบโดยนิตยสาร Car and Drivers ของอังกฤษ ตอนนั้นเอาไปแข่งกับ CTR3 เลยทีเดียว โดยได้ผลลัพท์เพอร์ฟอแมนซ์ออกมาที่แรงม้าสูงสุด 469 hp แรงบิดสูงสุด 408 ปอนด์-ฟิต น้ำหนักรถอยู่ที่ 2,600 ปอนด์ อัตราเร่ง 0-60 mph ใน 3.7 วินาที ท็อปสปีด 210 mph ดูจากเทสต์ไดรฟ์ครั้งนั้นแล้ว รู้สึกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่คลาดเคลื่อนค่อนไปทางต่ำกว่าออริจินัลสักนิดนึง แต่ถ้าดูจากวัตถุประสงค์จริงๆ นั้น Car and Drivers ได้เทสต์ Yellowbird คันนี้เพราะทาง RUF ต้องการให้โปรโมทรุ่น CTR3 มันก็อาจจะต้องมีกดๆ ไว้ไม่ให้รถคลาสสิกดูวิเศษกว่าโมเดลใหม่ อย่างไรก็ดีเอาแค่เพอร์ฟอแมนซ์เบาะๆ แบบนั้นก็สามารถตัดสินได้เลยว่า CTR คันนี้สามารถซัดโฮกกับ Porsche 959 หรือ Lamborghini Countach และ Ferrari ในตระกูล F-40 ช่วงปลายยุค 80s ได้แบบเหนือกว่าอย่างชัดเจน
นี่คือต้นฉบับของแท้แห่ง RUF CTR ‘Yellowbird’ หมายเลข 1 ของ 26 คันที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ แน่นอนมันเป็นซูเปอร์คาร์ที่ not for sale มีไว้สำหรับประกาศเกียรติอันภาคภูมิของครอบครัว RUF ที่มีอยู่ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศเราซึ่งมี Royal Motors เป็นตัวแทน 1 เดียวในอาเซียน
5 ม.ค. 2565