300 SL Coupe “Gullwing”

Last updated: 4 พ.ย. 2562  |  3467 จำนวนผู้เข้าชม  | 

300 SL Coupe “Gullwing”

ทั้งรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร และความเร็วที่เหนือสุดของรถโปรดักซ์ชันคาร์ในยุคนั้น ทำให้ 300 SL Coupe “Gullwing” คือตำนานที่หยิบยกมาเล่าให้ฟังได้ทุกวันไม่มีเบื่อ

เอาละครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านเจ้าของรถในแวดวงรถคลาสสิกเมืองไทย ที่อนุญาตให้พวกเราได้มีโอกาสไปถ่ายภาพรถอมตะคันนี้ ซึ่งครั้งแรกที่ได้ไปยลโฉมด้วยสองตาของตัวเอง ต้องขอบอกเลยว่า มันเป็นงานศิลป์ที่งดงามมากๆ เส้นสายมัดกล้ามบนบอดี้ และประตูปีกนกบ่งบอกถึงรสนิยมของดีไซเนอร์ รวมถึงความสดใหม่ของรถที่เหมือนเราย้อนยุคกลับไปในยุค 50s ตอนนั้นพูดตามตรงอยากได้มาครอบครองบ้าง มันสวยจนแทบหยุดลมหายใจ

ท่านเจ้าของรถได้เล่าถึงประวัติของ 300SL ให้เราฟัง จุดเริ่มต้นของการกำเนิดตำนานมาจาก Daimler-Benz AG ผู้ผลิตรถจากเยอรมันประสบความสำเร็จกับรถแข่ง Mercedes-Benz W194 ที่ได้รับความนิยมในการแข่งขันเอนดูรานซ์ในรูปแบบ 24 ชั่วโมง ซึ่งคว้าแชมป์มาแล้วมากมาย จนทำให้ Max Hoffman ผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการของ Daimler-Benz สหรัฐอเมริกาในขณะนั้น เสนอให้ Daimler-Benz AG ผลิตรถรุ่นนี้ออกมาจำหน่าย ซึ่งตัวเขาการันตีว่าสามารถขายรถคันที่ว่าในสหรัฐอเมริกาได้อย่างถล่มทลายอย่างแน่นอนไม่ได้โม้ 

ครั้งแรกที่ Mercedes-Benz 300 SL เผยโฉมครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1954 ในงานอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์ สปอร์ต โชว์ ที่จัดขึ้นในมหานครนิวยอร์คประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนค่ายดาวสามแฉกในยุคนั้น เพราะตามปกติพวกเขาจะจัดงานเปิดตัวในแผนดินยุโรปผ่านงานแฟรงเฟิร์ตหรือไม่ก็จัดที่งานเจนีวา มอเตอร์โชว์ ด้วยจำนวนการผลิตที่มีทั้งหมด 1,400 คัน ในระหว่างปี 1954-1957 (ทั้งหมดเป็นพวงมาลัยซ้าย) เหลือเชื่อที่ยอดขายกว่า 80% จะเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาตามที่นายฮอฟฟ์แมนคุยโตเอาไว้จริงๆ ซึ่งรถคันที่ท่านกำลังรับชมอยู่นั้นเข้ามาที่เมืองไทยในปี 1956 และเป็น 1 ใน 3 คันในยุคนั้นเสียด้วย ซึ่งก็ผ่านการใช้งานมา 2 มือก่อนมาถึงเจ้าของรถท่านนี้ ถ้านับอายุกันก็ 60 กว่าปีแล้ว ซึ่งในตอนนั้นรถมีสภาพที่ต้องได้รับการปรับปรุงเกือบทั้งหมด แม้มันจะวิ่งมาแค่ 5,000 กว่ากิโลเมตรมาก็ตาม

ที่ 300 SL เลือกใช้ประตูปีกนก (Gullwing) เหตุผลหลักคือ โครงสร้างของตัวรถที่เป็นรถแข่งแบบสเปซเฟรม ทำให้การใช้ประตูแบบปกติไม่สามารถนำมาติดตั้งได้พื้นที่ไม่เพียงพอ ซึ่งก็ต้องยกเครดิตให้กับ Rudolf Uhlenhuat หัวหน้าวิศวกรฝ่ายพัฒนา Daimler-Benz AG ที่คิดค้นประตูรถแบบติดเข้าไปกับหลังคา และต้องใช้การเปิด-ปิดแบบยกขึ้นลงที่ด้านข้างแทน ทำให้รถคันนี้มีความสวยงามและมีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัว ท่ามกลาง Cabin ภายในที่ออกแบบมาอย่างหรูหรามีรสนิยมตามยุคตามสมัยนั้น อีกหนึ่งเรื่องที่คุณอาจจะไม่ทราบกัน พวงมาลัยของ 300SL สามารถพับได้ (Fold Down) เพื่อให้คุณเข้าออกรถคันนี้ได้อย่างสะดวกมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่านี่คือ รถแข่งที่ถูกนำมาโมดิฟายเป็นรถบ้าน ค็อกพิทของรถคันนี้จึงคับแคบกว่ารถปกติในยุคสมัยนั้น

เครื่องยนต์ของ 300SL เป็นเครื่องรุ่นเดียวกับรุ่น 300 (4 ประตู) ที่ถูกนำมาปรับจูนให้มีแรงม้าเพิ่มขึ้น และจับมาวางทำมุม 45 องศา เพื่อให้เข้ากับฝากระโปรงและเรื่องของจุดศูนย์ถ่วงต่ำตามสไตล์ของรถสปอร์ต เครื่องขนาด 3.0 ลิตร 6 สูบแถวเรียง ถูกนำเข้ามาวางเป็นหัวใจหลัก พร้อมระบบส่งกำลังด้วยเกียร์แมนนวล 4 สปีด สิ่งที่ทำให้รถคันนี้เป็นที่ฮือฮาในยุคนั้นคือ เป็นรถโปรดักซ์ชันคาร์คันแรกของโลกที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินระบบหัวฉีด ท่ามกลางเพื่อนร่วมรุ่นที่ยังคงใช้เครื่องยนต์แบบคาร์บูเรเตอร์ (ในยุคนั้นเครื่องยนต์เบนซินระบบ

หัวฉีดถูกนำมาใช้งานเฉพาะในรถแข่งเท่านั้น) แรงม้าสูงสุดอยู่ที่ 215 แรงม้าที่ 5,800 รอบต่อนาที ให้แรงบิดสูงสุด 274 นิวตันเมตร สร้างความเร็วสูงสุดถึง 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วเทียบเท่ารถสายพันธุ์เรซซิ่งคาร์ในยุคนั้น ส่วนอัตราเร่งจาก 0-100 km/h ทำได้ใน 10 วินาที

การทำรถคลาสสิกให้กลับมาชีวิตอีกครั้ง ต้องใช้อะไรที่มากกว่าทรัพย์สินเงินทอง การที่คุณต้องอดทนรอการบูรณะรถเก่าที่กินเวลากว่า 3 ปีนั้น เป็นเรื่องที่หลายคนอาจไม่ชอบใจนัก แต่กับเจ้าของรถท่านนี้เขาอดทนรอได้เสมอเพื่อให้รถที่เขารักกลับมาวิ่งได้เหมือนตอนที่มันออกมาจากโรงงานในเมือง Stuttgart นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่เขาได้พบกับวิศวกรชาวเยอรมันที่เชี่ยวชาญในรถรุ่นนี้ในเมืองไทยพอดี ซึ่งหลังจากที่พูดคุยกันถึงการบูรณะรถคันนี้ ทำให้เราได้รู้ว่ารถคันนี้ถูกกำหนดให้ใช้พาร์ทอะไหล่แท้ทั้งหมด รายละเอียดในการซ่อมแซมรถถูกควบคุมดูแลโดยวิศวกรชาวเยอรมัน และทำที่เมืองไทย เช่น การซ่อมเครื่องยนต์ เกียร์ โดยอาศัยอะไหล่ทั้งหมดที่สั่งมาจาก HK-Engineering ในประเทศเยอรมัน ซึ่งบริษัทนี้เชี่ยวชาญในการบูรณะรถรุ่นนี้โดยเฉพาะ ส่วนแผงหน้าปัดนั้นจำเป็นต้องส่งไปซ่อมที่เยอรมัน ชุดหนังและพรมถูกสั่งเข้ามาประกอบในไทย นอกจากนี้ก็มีการปรับแต่งเล็กน้อยให้เข้ากับอากาศเมืองไทย เช่นการใส่ระบบปรับอากาศเข้าไป เป็นต้น

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสำหรับ Mercedes-Benz 300 SL ในจำนวนที่ผลิตออกมาทั้งหมด 1,400 คัน มี 29 คันที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา (Aluminium Body) ซึ่งในวงการนักสะสมถือว่ารถคันนี้เป็นแรร์ของแรร์อีกขั้นหนึ่ง ราคาค่าตัวก็ทะยานพุ่งขึ้นไปอีก แค่ตัวเดิมเราๆ ก็ได้แต่แหงนหน้ามองกันแล้ว ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรถคันนี้ถึงกลายเป็นตำนานและส่งถ่าย DNA มาให้กับรุ่นหลานอย่าง Mercedes-Benz SLS AMG สุดท้ายนี้ FOC ขอขอบคุณท่านเจ้าของรถ 300SL Gullwing คันงาม ที่สละเวลาให้เราได้เข้าไปเก็บภาพรถระดับ iconic และบอกเล่าเรื่องราวของรถรุ่นนี้ให้เราฟังมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้